“วราวุธ” เผย ชาวกรุงยังต้องเผชิญ PM 2.5 ถึง 17 ธ.ค. แจง ฝุ่นหนาเพราะสภาพอากาศกดทับ คนใช้รถเยอะ ยัน รัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหา แต่บางอย่างกระทบประชาชน

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 ธ.ค. 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าในช่วง 2-3 วันนี้จนถึงช่วงวันที่ 17 ธ.ค. สภาพอากาศแทบจะไม่มีลมและมีการกดทับของสภาพอากาศ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ฝุ่นสะสมใน กทม.

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากและได้มีมาตรการต่างๆ ออกมา ทั้งการประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้มีการบริหารจัดการเรื่องการเผาเกี่ยวกับการเกษตร โดยขอให้จังหวัดในเขตปริมณฑลงดการเผาในช่วง 2-3 วันนี้ และได้มีการประสานกับกระทรวงคมนาคม ให้กวดขันตรวจสอบรถที่ผลิตก๊าซไอเสียเกินมาตรฐานกำหนด โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ทางกรมควบคุมมลพิษได้ออกตรวจร่วมกับกรมการขนส่งทางบก พบว่ามีรถที่ค่าไอเสียเกินมาตรฐานปริมาณ 25-30% ของปริมาณรถที่ตรวจได้ ส่วนใหญ่มาจากรถรับจ้างส่วนบุคคล เป็นรถกระบะที่ไม่ได้รับการดูแลสภาพเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการต่างๆ เช่น ไม่ให้รถบรรทุกเข้ามาเขต กทม.ชั้นใน

...

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปัญหา PM 2.5 พูดตั้งแต่ต้นปีว่าเป็นปริมาณที่เราผลิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ลดลง แต่สภาพที่มีหมอกควันและฝุ่นควันสะสมนั้นส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องขอความเห็นจากประชาชนว่า มาตรการ หรือนโยบายแบบใดที่ประชาชนสามารถรับได้และเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะดำเนินการ เพราะบางมาตรการเมื่อออกมาแล้วได้รับการคัดค้าน และมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างแน่นอน เช่น การที่ กทม. มีมาตรการไม่ให้รถบรรทุกเข้า กทม.ชั้นใน ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สะดวกในการดำเนินกิจการ

ถ้าย้อนกลับไปช่วงต้นปี ประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. สภาพอากาศไม่ได้แตกต่างจากนี้ แต่สภาพ PM 2.5 อยู่ในคุณภาพดี เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงการล็อกดาวน์ การสัญจรน้อย ปริมาณรถและเครื่องยนต์ที่ผลิตไอเสียบนถนนแทบจะไม่มีเลย แต่วันนี้หากปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน ทั้งรถสาธารณะ รถยนต์ส่วนบุคคลยังมีเต็มอยู่บนท้องถนนเช่นนี้คงไม่สามารถแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้ สำหรับช่วงนี้ขอให้ประชาชนระมัดระวังสุขภาพ สวมใส่หน้ากากเมื่อเดินทางออกจากบ้าน และตรวจเช็กสภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตุนิยมวิทยา

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า นอกจาก 12 มาตรการที่แก้ปัญหา PM 2.5 ที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้แล้ว จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมอะไรอีกหรือไม่ นายวราวุธ ตอบว่า คงจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา แต่มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาต้องกระทบกับชีวิตประชาชน จึงต้องมีการพูดคุยกันว่าสิ่งใดที่ประชาชนรับได้ และสิ่งใดที่อยากให้ช่วยเยียวยา.