"เศรษฐพงค์" แนะ ดีอีเอส ศึกษาโมเดลบรอดแบนด์ท้องถิ่น มาใช้ลดขนาดทีโอทีและเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น เชื่อเป็นทางเลือกที่ดีตอบสนองความต้องการแต่ละชุมชน 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเข้ารับตำแหน่งประธานธิบดีสหรัฐของ นายโจ ไบเดน ในเดือนหน้า โดยได้มีการชูนโยบาย Made in all of American โดยภายใต้นโยบายนี้จะมีการลงทุนถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งรวมถึง 5G และ AI แต่ นายไบเดน เองยังให้ความสนใจในเรื่องของการปิดช่องว่างดิจิทัลในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในเรื่องนี้ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ และหนึ่งในโมเดลที่จะทำเรื่องนี้ คือ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ท้องถิ่น โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าท้องถิ่นย่อมเข้าใจความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยรูปแบบของผู้ให้บริการบรอดแบนด์ท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ รูปแบบแรกจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการเองบรอดแบนด์ จะเป็นบริการพื้นฐานให้กับคนในชุมชน 2.เป็นลักษณะกึ่งเอกชนกึ่งรัฐ (Quasi Private Network) เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นกับชาวบ้าน หรือวิสาหกิจชุมชนมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนและบริการภาครัฐ และ 3.เป็นเอกชนสมบูรณ์แบบ แต่ไม่ใช่เอกชนผู้ให้บริการขนาดใหญ่ แต่ควรเป็นวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ 

"เทคโนโลยีสมัยใหม่การเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะเกือบทั้งหมดสามารถใช้การบริการงานโครงข่ายผ่านระบบคลาวด์ได้ โดยสามารถวางโครงข่ายได้ทั้งแบบมีสาย (Fiber-to-the-Home) และแบบไร้สาย citywide WiFi หรือ Noncellular IoT ได้ เพราะที่ผ่านมาการให้บริการผ่านผู้ให้บริการขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชน ได้มีการปักเสาพาดสาย หรือตั้งสถานีฐานภายในชุมชนต่างๆ แต่ประชาชนไม่สามารถเอาโครงข่ายมาใช้ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ได้จริง แต่ถ้าโครงข่ายบรอดแบนด์ทัองถิ่นเป็นของชุมชน จะสามารถบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละชุมชน ที่มีความหลากหลาย" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

...

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ในบ้านเราทีโอทีเป็นผู้ให้บริการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมากหมื่นกว่าราย และเป็นปัญหาที่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ มีความพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเวลานาน และปัจจัยความเสี่ยงที่ความถี่ 2100MHz และ 2300MHz ที่นำไปให้ผู้ประกอบเอกชนนำไปใช้งาน และนำมาเป็นส่วนแบ่งรายได้ โดยใบอนุญาตที่ทั้งสองความถี่กำลังจะหมดอายุลงภายในปี 2025 ซึ่งการลดขนาดของพนักงานขององค์กรให้ไปอยู่ภายใต้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ท้องถิ่น ที่มีจำนวนหลายพันแห่ง ถ้ามีการเปิดอนุญาตให้มีประกอบการชนิดนี้ได้ รวมทั้งประสบการณ์ของคนทีโอที จะสามารถไปเริ่มต้นการบริหารจัดการการให้บริการบรอดแบนด์แก่คนใจชุมชนได้ ประกอบกับผู้ให้บริการบรอดแบนด์ท้องถิ่น จะต้องมีการว่าจ้างคนในท้องถิ่นเพื่อมาร่วมงานจะทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนได้ รวมทั้งโครงข่ายที่เป็นของชุมชนสามารถจัดการให้ตอบสนองความต้องการในชุมชนได้ เช่น เอามาเน้นเรื่อง Smart Farm สำหรับชุมชนที่มีการปลูกข้าวหรือการทำเกษตรเป็นหลัก หรือ Smart Fisherman สำหรับชุมชนชาวประมงซึ่ง มีความต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตอบโจทย์ที่ตลาดต่างประเทศต้องการเข้ามาตรวจสอบถึงแหล่งที่มาสัตว์ทะเลที่จับได้ 

"ในอดีตที่ผ่านมามีการใช้โมเดลทั้งเน็ตประชารัฐ เน็ตชายขอบ ที่พยายามปิดช่องว่างดิจิทัล โดยให้ผู้ให้บริการขนาดใหญ่เป็นผู้ดำเนิการ แต่ผลตอบสนองไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นการพิจารณาบรอดแบนด์ท้องถิ่น อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในแต่ละชุมชน" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว