ทั้งโจทย์ที่เป็นคำถาม ผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบ ต่อไปนี้ ผมตั้งใจทำหน้าที่รวบรวม เรียบเรียง เท่านั้น

โจทย์ได้จากผู้คุมเก่าลาดยาว ผ่านทุกข์สุข ร้อนหนาวในงานมากว่า 40 ปี เขียนเล่าในจดหมายด้วยลายมือ ปรารภเหตุคนสมัยนี้ อ่อนแอเหลือเกิน เอะอะอะไรก็ฆ่าตัวตาย

แต่ถ้าได้ดวงตาเห็นธรรม ก็คงจะเข้าใจ “ชีวิตนี้ ยังมีอะไรอีกเยอะ” ให้อยู่สู้ต่อไป

พร้อมจดหมาย ผู้คุมเก่า แนบข้อเขียน ชื่อ พุทธานุภาพ เข้าใจว่าก๊อบปี้มาจากหนังสือแนวธรรมะ ผู้เขียนใช้นามปากกา “ณัฐชา” เรียบเรียงมาจากชีวิตจริง แม่ลูกสอง คนหนึ่ง

วิบากกรรมในครอบครัวของฉันเกิดจากสามี ซึ่งเดิมทีเป็นคนดี

เขามีระเบียบชีวิต ประหยัด บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่กิน ไม่เล่นการพนัน และตั้งใจทำงาน

แต่หลังจากได้งานใหม่ ในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ราวๆปีกว่า นิสัยก็เปลี่ยนไป เขาเริ่มกินเหล้าเมายา เที่ยวกลางคืน กลับบ้านผิดเวลาทุกวัน เงินเดือนไม่มีเหลือให้ครอบครัว เกิดหนี้สินพะรุงพะรัง

ฉันขอร้องให้เขาเลิก ทะเลาะกันประจำเรื่อยมาเป็นเวลา 9 ปี

ถึงวันที่ฉันแน่ใจ ไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยสามีได้แล้ว ความทุกข์ที่สั่งสมบ่มเพาะมานาน ทำให้ฉันไม่อยากมีชีวิตต่อไป เมื่อคิดจะฆ่าตัวตาย คิดหาวิธีฆ่าตัวตาย หลายวิธี ทั้งวิธีง่ายๆ และวิธีพิสดาร

หลายคืนที่คิดฆ่าตัว เมื่อคิดต่อเมื่อฉันตาย ลูกไม่มีแม่ ลูกอยู่ไม่ได้ ต้องฆ่าลูกให้ตายพร้อมกันไปด้วย

คืนที่ตัดสินใจ “คืนนี้แล้วสินะ” ตั้งสติเขียนจดหมายลาตาย เขียนไปร้องไห้ไป จดหมายนั้นเปียกชุ่มด้วยน้ำตา

ครอบครัวเราเป็นชาวพุทธ...ตั้งแต่เป็นตัวเป็นตนมา พ่อแม่สอนให้สวดมนต์ก่อนนอน ฉันพับจดหมายใส่ซอง แล้วจุดธูปจุดเทียน แล้วก็เริ่มสวดมนต์

...

ปากพร่ำสวด ตาจ้ององค์พระปางนาคปรก พระบูชาประจำบ้าน ฉันเห็นเงาองค์พระ ที่ทาบฝาผนังบ้านส่ายไปมา ตามแสงเปลวเทียนที่สะบัดพลิ้ว ยิ่งเพ่งมองก็เห็นเหมือนเงาฝ่ามือพระบูชา ส่ายไปมา เหมือนโบกห้าม “อย่าทำๆ”

ฉันเพ่งมองเงามือพระโบกห้าม หลายอึดใจ จิตใต้สำนึกเริ่มยั้งคิด ถ้าฉันตาย แล้วจะได้อะไรขึ้นมา

ลูกๆเล่า เขาไม่มีความผิดอะไร ทำไมจะต้องมาตายไปด้วย

ฉันก้มกราบพระ บอกท่าน “ท่านห้ามแล้ว ฉันจะอยู่สู้ต่อ” ก้มจูบลูกที่นอนหลับ กระซิบเบาๆ “เราจะไม่ตายแล้วนะ” พรุ่งนี้เราจะเริ่มชีวิตใหม่

“ณัฐชา” จบข้อเขียนเรื่องนี้ว่า นี่แหละ พุทธานุภาพที่แท้จริง เตือนสติคุ้มครองชีวิตพุทธศาสนิกชนทุกคน

ท่านอาจารย์ พระโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ) อธิบายไว้ในหนังสือคำวัด หัวข้อคำ “อุปาทาน”

อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นที่ผิดด้วยอำนาจกิเลส โดยนึกหรือเข้าใจเอาเองว่า เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุเกิดความเสียหายเศร้าหมอง

หากยึดมั่นในกามตัณหา ก็เกิดความริษยาหึงหวง หากยึดมั่น ในความคิดเห็นก็จะเกิดมีทิฐิมานะสูง และหัวดื้อถือรั้น หากยึดมั่นในธรรมเนียม ก็จะทำให้เกิดความงมงาย เชื่อง่าย

หากยึดมั่นในตัวเองก็จะทำให้ทระนงตัว เย่อหยิ่งจองหองถือเขาถือเรา

เรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามานี้ จะเป็นพุทธฤทธานุภาพ หรือเป็นพุทธปาฏิหาริย์ หรือที่แท้เป็นอุปาทาน ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงหาคำตอบได้เอง.

กิเลน ประลองเชิง