ในที่สุดก็ได้ฤกษ์งามยามดี ได้เวลาที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในวันที่ 1 ธันวาคม เหตุที่ใช้คำว่า “รัฐสภา” เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมของสองสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นการตรากฎหมายโดยทางลัด ไม่ต้องผ่าน ส.ส.ก่อนจึงเสนอ ส.ว. แต่ให้ทั้งสองสภาพิจารณาร่วมแล้วจบ
รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงให้พิจารณาพร้อมกันเป็นคำชี้แจงที่รับฟังได้ แต่เหตุผลอีกอย่างก็คือ รัฐบาลตีตราว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นกฎหมายเรื่องการปฏิรูปประเทศ จึงให้เสนอต่อ “รัฐสภา” เป็นกลไกสืบทอดอำนาจอีกอย่างหนึ่ง โดยรัฐบาลให้ ส.ว.ช่วยยกมือให้ในร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ
เช่นรัฐบาลอาจจะอ้างว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็น “กฎหมายปฏิรูปประเทศ” และเสนอให้พิจารณาร่วมกันทั้งสองสภา โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ อาจถูกคว่ำในสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องให้ ส.ว.เป็นตัวช่วย ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะมีเนื้อหาสาระอย่างไรก็ตาม แต่จะต้องเป็นประชามติแท้
จะต้องไม่ให้เหมือนการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กลุ่มผู้สนับสนุนอ้างว่าผ่านประชามติของประชาชน 16.8 ล้านคน ห้ามแก้ไข แต่ฝ่ายที่เห็นต่างยืนยันว่า เป็นการออกเสียงที่ปิดปากฝ่ายที่คัดค้าน ร่างรัฐธรรมนูญห้ามปลุกระดมคัดค้าน ถูกจับกุมดำเนินคดีหลายสิบคน แต่เจ้าหน้าที่รัฐโฆษณาชวนเชื่อโดยเสรี
ทำไมเราจึงไม่มี พ.ร.บ. ประชามติฉบับที่เป็นกลาง นำมาใช้ในการลงประชามติได้ทุกเรื่อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ไม่เจาะจงแค่รัฐธรรมนูญ เช่น รัฐบาลอาจถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ในการปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิรูปกองทัพ และอาจถามหลายคำถาม ในการลงประชามติคราวเดียวกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ
...
การออกเสียงประชามติ เป็นประชาธิปไตยทางตรง เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศ ประชาชนรู้สึกว่าตนมีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจอย่างแท้จริง การเมืองประเทศก้าวเข้าใกล้ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่ใช่ก้าวหน้าและถอยหลัง วนเวียนอยู่ระหว่างประชาธิปไตยครึ่งใบกับเผด็จการ
เมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขณะนี้ เทคโนโลยีก้าวถึงยุคดิจิทัลแล้ว และสังคมก็ก้าวสู่ 4.0 แต่ “กลุ่มนักเรียนเลว” ที่ร่วมชุมนุมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มองว่ารัฐบาลก้าวถอยหลัง เป็นไดโนเสาร์ จึงอาสาเป็นอุกกาบาต ถล่มไดโนเสาร์ให้สูญพันธุ์ หวังว่าทุกฝ่ายจะไม่ลืมว่าประชามติที่แท้ คือประชาธิปไตยทางตรง.