ที่ประชุม ส.ส.พปชร. มีมติยึดแนวทาง วิปรัฐบาล รับหลักการ ร่าง รธน.ฉบับ 1 และ 2 งดออกเสียง ฉบับ 3-6 ขอฟังชี้แจง-อภิปรายจากสมาชิกสภา 17-18 พ.ย.ก่อนตัดสินใจ รับไม่รับ ร่างไอลอว์


วันที่ 16 พ.ย. นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่าวันนี้ ได้มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของพรรค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 17-18 พ.ย.2563 นี้ โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิก แสดงความคิดเห็น และเตรียมความพร้อมที่จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ทั้ง 7 ฉบับ โดยอยู่ระหว่างการกำหนดตัวผู้อภิปราย ซึ่งต้องยึดหลักการและเหตุผล ในการนำเสนอ และอภิปราย ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงให้รอบด้าน จากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่า ความเห็นจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทั้งนี้ มติที่ประชุมได้ยึดตาม มติของวิปรัฐบาล คือ การรับหลักการ ในร่างรธน.ฉบับที่ 1 และ 2 งดออกเสียงในฉบับที่ 3,4,5 และ 6 เนื่องจากมีเนื้อหาครอบคลุม อยู่ในฉบับที่ 1 และ 2 แล้ว ส่วนร่างของไอลอว์ ทางพรรคขอรับฟังคำชี้แจง จากผู้เสนอร่าง รวมถึงการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกในรัฐสภาก่อน ที่จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ย้ำจุดยืนของพรรค ที่ได้แสดงมาโดยตลอด ในการไม่แก้ไขรธน.ในหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนความกังวลใจ และการกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เชื่อว่า เราต้องทำหน้าที่ไปตามกระบวนการรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการพิจารณาร่างรธน. จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดตามหลักเหตุผล และความมั่นคงของ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมย้ำว่า เราจริงใจต่อการแก้ไข รธน. จึงขอให้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกัน แสวงหาทางออก และร่วมกันเร่งสร้างความปรองดอง ผ่านกระบวนการและกลไกรัฐสภา

...

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจง ถึงขั้นตอนของการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ย.2563) ว่า จะเริ่มในเวลา 09:30 น. โดยเป็นขั้นตอนสภารับรายงานของคณะกรรมาธิการ ก่อนรับหลักการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จากนั้น จะเป็นการพิจารณาร่างของไอลอว์ ด้วย ส.ว.5 ชั่วโมง ฝั่งของผู้เสนอร่าง 1 ชั่วโมง และ ส.ส. ฝ่ายค้าน-และรัฐบาล ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง รวมประมาณ 17 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งคาดว่า ในวันแรก น่าจะสามารถพิจารณาไปได้ 13-14 ชม. จากนั้น ในวันที่ 18 พ.ย. 2563 ก็จะพิจารณาต่อ อีก 1 ชั่วโมง ก่อนลงมติ รวมกันทั้ง 7 ร่าง ซึ่งคาดว่า น่าจะใช้เวลา 4 ชั่วโมง ขึ้นไป ไม่เกิน 5 ชั่วโมง รวมนับคะแนนด้วย

นายวิรัช ชี้แจงถึงกระแสวิจารณ์ ว่า เป็นการยื้อเวลา ว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะต้องให้เหตุผล หากไม่ตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการ เมื่อวันที่ 23-24 กันยายน ที่ผ่านมา คาดว่า วันนั้นน่าจะไม่ผ่านสักร่างเดียว แต่มาวันนี้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจ ว่า ในร่างที่เราขอแก้ไข มีส่วนที่ดี หรือมีจุดอ่อนใด ก็จะนำไปพิจารณา ในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป ส่วนที่มีผู้ชุมนุม ทั้งสนับสนุนและต่อต้าน นายวิรัช ยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส.พปชร.ทุกคน พร้อมเข้าไปทำหน้าที่ของการเป็นผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุและผล ไม่กลัวการกดดันใดๆ ทั้งสิ้น