เข้าสู่ทางตรง มุ่งสู่รัฐสภา การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้อง 3 ประการ คือ ให้นายกฯลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการปฏิรูปสถาบัน

ทั้ง 3 ข้อนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้

รัฐสภาจะมีการประชุมว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.63 ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ยกแรกก็คือ การลงมติว่าจะรับร่างแก้ไขหรือไม่ ซึ่งได้มีการวางกรอบเอาไว้แล้ว จะมีญัตติอะไรบ้างที่เข้าสู่วาระการประชุม

แต่ละร่างนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอันเกี่ยวเนื่องกัน การเปลี่ยนแปลงซึ่งมีมุมมองที่ต่างกัน

เป็นความเห็นต่างทั้งในแง่กฎหมายและแนวคิด

หากผ่านวาระแรกด้วยการรับหลักการ ทั้งนี้ ส.ว.ยังมีบทบาทที่จะทำให้เดินหน้าไปได้หรือไม่ อย่างน้อย 84 เสียงของ ส.ว.เป็นปัจจัยสำคัญ

เพราะหากเสียงไม่ถึงจำนวนนี้ก็ผ่านไปไม่ได้ถือว่าจบทันที

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ จะเกิดความวุ่นวายหนักเข้าไปอีก เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจสูงขึ้น

เนื่องจากมุ่งมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตอบโจทย์ลดความขัดแย้งได้

แน่นอนว่าแม้จะมีการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่องหลายจุดหลายทำเล แต่ก็เป็นเพียงแต่การสร้างแรงกดดัน แต่ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรม

ถนนทุกสายจึงมุ่งไปที่สภาเพื่อวัดใจกัน

ทั้งรัฐบาล ส.ส. และ ส.ว.ว่าจะจริงใจแค่ไหน ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายค้านพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ และ ส.ว.คืออุปสรรคสำคัญ

ที่จะได้เห็นก็คือ ผู้ชุมนุมไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามจะมุ่งไปที่ หน้ารัฐสภาเพื่อกดดันสมาชิกรัฐสภาและเกิดการเผชิญหน้ากันแน่

...

เพราะมีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไข ฝ่ายคัดค้านและที่ต้องการให้แก้ไขเป็นไปตามความประสงค์ซึ่งเป็นความเห็นต่างที่เป็นความขัดแย้งหลัก

แม้แต่ในรัฐบาลเองก็มีความขัดแย้งในตัวด้วย ยังไม่ต้องพูดถึง ส.ว.

เบื้องต้นที่ยังไม่ลงตัวก็คือ จะรับญัตติฝ่ายไหน ไม่เอาของฝ่ายไหน แค่นี้ก็ยุ่งและจะเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขัดแย้งหนักขึ้น

เหนืออื่นใด ความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบันซึ่งต่างจากที่ผ่านมา แม้จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ครั้งนี้ยังกินขอบเขตมุ่งไปถึงการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศด้วย

การปฏิรูปสถาบันคือจุดหมายที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน เห็นได้จากมวลชนทั้งแต่ละฝ่ายได้แสดงตัวตนให้เห็นกันอย่างชัดเจน

อีกทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ยังมีภาพที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ต้องการสร้างผู้นำการเมืองคนใหม่

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่แสดงตัวตนให้ปรากฏแล้ว

ดังนั้น การเคลื่อนไหวในรูปแบบและพลิกแพลงกระบวนท่าต่างๆ จึงมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมประเทศ แล้วยังต้องการขึ้นไปสู่ความเป็นผู้นำสูงสุด

นั่นจึงทำให้การเจรจาประนีประนอมลดเงื่อนไขจึงเป็น ได้ยากยิ่ง.

“สายล่อฟ้า”