“ข่าวใหญ่” ของมวลมนุษยชาติ ล่าสุดบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และไบออนเทค (BioNTech) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของประเทศเยอรมนี แถลงความคืบหน้า ครั้งใหญ่ในการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในขั้นแรกสามารถป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
โดยมีการนำวัคซีนนี้ไปทดลองกับคน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยไม่พบว่ามีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยกับผู้เข้าร่วมการทดลอง
คาดว่าจะมีการผลิตวัคซีน 50 ล้านโดส ภายในปีนี้ และ 1.3 พันล้านโดสในปีหน้า
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า รัฐบาลไทยมีข้อตกลงในการประสานข้อมูลเชิงลึกกับบริษัทไฟเซอร์อยู่แล้ว บนพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดยไฟเซอร์ถือเป็นหนึ่งในบริษัทยาที่อยู่ ในแผนการจัดหาวัคซีนล่วงหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
ผลวิเคราะห์นี้ทำให้ “มีความหวังมากขึ้นว่าจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนในระยะเวลาอันใกล้”
การันตีประเทศไทยไม่ตกขบวน “วัคซีนหยุดไวรัสมรณะ”
ก่อนอื่นใด โดยปฏิกิริยาตอบรับข่าวดี ณ นาที ที่บริษัทยาเปิดเผยข้อมูลความสำเร็จ ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดขึ้นทันทีอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับราคาน้ำมันพุ่งทะยาน ตามสัญญาณที่นักลงทุนมีความหวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
จากที่แกว่งไปแกว่งมาตามสถิติการระบาดในสหรัฐฯและยุโรป
“วัคซีนโควิด-19” เท่านั้น คือปัจจัยหนึ่งเดียวที่เป็นแรงกระตุกเศรษฐกิจโลก
...
ท่ามกลางแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์ แต่ที่เมืองไทยยังดีใจได้ไม่สุด เพราะนอกจากอาการติดเชื้อมหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยังมีโรคแทรกจากวิกฤติความแยกทางการเมือง
อาการ “เรื้อรัง” รักษายากกว่าไวรัสอันตราย
ตามพัฒนาการความแตกแยกที่ขยายวง ยกระดับจากการแบ่งสี แบ่งขั้ว แบ่งค่าย กลายเป็นการขัดแย้งทางความคิดระหว่างเจเนอเรชัน คนรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่รุ่นเก่า
เด็กมุ่งสร้างดาวคนละดวงกับคนแก่
กระแสม็อบเบ่งบาน โดยฉากสถานการณ์ล่าสุด นักเรียน นิสิต นักศึกษา มวลชนราษฎร รุกไปหยุดอยู่แค่ด่านสกัดหน้าศาลฎีกา สนามหลวง ส่งจดหมายถึงปลายทาง “ไกลสุดขอบฟ้า ใกล้แค่ขอบตา”
ปฏิบัติการท้าเหลี่ยมคมอำนาจ เปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ม็อบราษฎร 2563 ล้ำแดนระยะอันตรายมาไกล
เป็นเงื่อนไขให้ม็อบอีกฝั่งระดมพลังคนเสื้อเหลือง เกณฑ์สายอนุรักษนิยมออกมาปกป้องสถาบัน แฝงเหลี่ยมคุ้มกัน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว. กลาโหม
พ่วงออปชัน “อารักขา” ขุมอำนาจรัฐบาล 3 ป.
“ม็อบฟันปลอม-ม็อบฟันน้ำนม” ประจันหน้า ยั่วแหย่ จ่อลงมือลงไม้
ชักจะเก็บอาการ “หมั่นไส้” กันไม่อยู่
แต่ก็ดูเหมือนจะผ่อนดีกรี ชิงจังหวะอำพรางช็อตบู๊ไว้ชั่วขณะ
ตามปรากฏการณ์ที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานกลางวงที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด ระบุสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร ตลอดช่วงที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเริ่มลดลงอย่าง
ต่อเนื่องตั้งแต่ 24 ตุลาคม เป็นต้นมา โดยการชุมนุมต่อครั้ง มีผู้เข้าร่วมจำนวน 10,000-15,000 คน หรือเฉลี่ย 12,000 คน ส่วนการชุมนุมทั่วประเทศ มีประมาณ 50,000 คน
ล้อกับข่าวประกอบ “บิ๊กตู่” ยิ้มอารมณ์ดี เพราะม็อบเด็กอ่อนกำลัง
แถมจังหวะยังต่อเนื่องกับจุดที่นายกฯกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ประสานเสียงเคลียร์กระแสข่าวลือบนโซเชียลมีเดีย ปมแกนนำม็อบราษฎรขอลี้ภัยไปต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่รู้ ไม่ทราบ อุบไต๋เป็นเชิงคุมเกมเหนือกว่า
โดยลีลาทหารเฒ่าที่เดิมพันต้องยื้อเกมอำนาจ มันก็ยังดู “ก้ำกึ่ง” เหลี่ยม “ไอโอ” ดิสเครดิตฝ่ายต่อต้าน
อาการพูดเองเออเองแค่รัฐฝ่ายเดียว โดยที่เด็กเงียบอยู่เฉยๆ
อีกทั้งสิ่งที่ยืนยันได้ตามเงื่อนไขสถานการณ์ก็คือ ห้วงนี้ นักเรียน นักศึกษา กำลังสอบกลางภาค
ไฟต์บังคับต้องเลือกเรียนก่อนไล่รัฐบาล
เอาเป็นว่า ณ จุดนี้มวลชนราษฎรยังรักษาระดับความชอบธรรมได้ตามมาตรฐาน “ม็อบปัญญาชน” พลังนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก่อปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่ชุมนุมอยู่ในขอบเขตรัฐธรรมนูญ
ขับเคลื่อนโดยไร้แกนนำ พลังความขลังสูงกว่า ม็อบแฝงการเมือง
ตามท้องเรื่อง พลังมวลชนจุดติด กระแสลอยลมบนมาขนาดนี้ มีหรือที่ม็อบเด็กจะฝ่อง่ายๆ
และฝ่ายที่รับรู้สถานการณ์ได้ดีกว่าทหาร โดยธรรมชาติของพวกจมูกไว ให้จับอาการของนักการเมืองอาชีพที่ยังพยายามยื้อเวทีสภาในการประคองสถานการณ์ทางออก
ไม่ให้ติดล็อก ไหลเข้าเงื่อนล้มกระดาน
ตามจังหวะถึงคิวสำคัญที่ประชุมรัฐสภานัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17–18 พฤศจิกายนนี้ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันชัดเจน จะมีเฉพาะการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น และได้เตรียมความพร้อมสำหรับการลงมติแล้ว
โดยแนวโน้ม ไม่สะดุดกับปมที่ “ส.ว.ลากตั้ง” กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันลงชื่อ ชิงยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาให้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือฉบับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และร่างฉบับประชาชน (ไอลอว์) ตั้งแง่ มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เหลี่ยมพวกกลัวสูญเสียอำนาจ ยื้อต่อลมหายใจรัฐบาล 3 ป.
ขณะมติที่ประชุมวิปรัฐบาลก็ยืนยัน 17–18 พฤศจิกายน โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน แค่จัดลำดับก่อนหลังในการนำร่างฉบับประชาชนมาประกบกับร่างของ ฝ่ายค้านกับรัฐบาล
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ยังไงก็ต้องรับหลักการ
แยกแยะตามเนื้อหาของร่างพิมพ์เขียวที่ส่งเข้าประกบกัน ไล่ตั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ยุ่งปมสถาบัน โดยแก้มาตรา 256 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยที่มา ส.ส.ร.แบ่งเป็น 2 ส่วน จากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง
เช่นเดียวกับร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่แตะต้อง มาตรา 1 และ 2 แตกต่างกันตรงที่มาของ ส.ส.ร. ฝ่ายค้านยืนยันต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ส่วนร่างประชาชนฉบับไอลอว์ เลือก ส.ส.ร.เปิดกว้างรื้อทุกมาตรา
ที่แน่ๆทั้งนักการเมืองอาชีพ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และความต้องการของร่างประชาชน ไม่มีฝ่ายไหนที่ยื้อสถานภาพความคงอยู่ของ “ส.ว.ลากตั้ง” เครื่องมือต่อท่ออำนาจทีม 3 ป.
ตามเงื่อนไข เท่ากับถอนฟืนออกจากกองไฟ
สภาเดินหน้ารื้อรัฐธรรมนูญตามธงม็อบ ทำตามข้อ 2 ใน 3 เงื่อนตายที่มวลชนรุ่นใหม่เรียกร้องกดดัน โอกาสความเป็นไปได้ต่อเนื่องกับข้อ 1 ที่ไล่บี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพลาออก
ทั้งหมดทั้งปวงมันยังต้องไปวัดกันที่ความจริงใจ
ถึงเวลาจะมีเกม “แกงเด็ก” คนแก่งัดเหลี่ยมสับขาหลอกม็อบราษฎรอีกหรือไม่ โดยเฉพาะท่าทางไม่น่าไว้วางใจของเหล่าไอ้ห้อย ไอ้โหน ที่แฝงอยู่ในทีมพลัง-ประชารัฐกับขบวนการ “ส.ว.ลากตั้ง”
ดันสุดซอย ไม่ยอมสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ง่ายๆ
และถ้าเลือกลุยไฟ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ขุมอำนาจ 3 ป.ก็ต้องพร้อมเผชิญกับภาวะสุ่มเสี่ยง แบบที่นายชวนต้องสั่งเตรียมมาตรการรองรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมาติดตามการประชุมรัฐสภา ตามที่ ส.ว.แสดงอาการกังวล ร้องขอให้ประชุมสภาช่วงกลางวันแทนกลางคืน เพราะแหยงโดนม็อบล้อมกรอบ
รู้คำตอบล่วงหน้า มโนเหตุการณ์อนาคตกันได้อยู่แล้ว.
“ทีมการเมือง”