“พล.อ.ประวิตร” นำหัวโต๊ะสั่งหน่วยงานรัฐร่วมมือทุกภาคส่วนและประชาชน ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ย้ำ ต้องจัดการจริงจังมุ่งสู่ความยั่งยืน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 พ.ย. 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรับรองร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 พร้อมผลักดันการออกกฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 21 จำนวน 2 ฉบับ และการออกกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 18 และกำหนดมาตรการคุ้มครองตามมาตรา 23 จำนวน 4 ฉบับ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประกาศใช้กฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งในภาพรวมสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนในการร่วมมือกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และสมดุล
...
ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนต้องดำเนินการไปด้วยกัน คิดถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้ง ต้องเกิดความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบภายหลัง นอกจากนี้ จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างสมดุล พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด สำหรับสถานการณ์ที่หน่วยงานได้สรุปรายงานในภาพรวมปี 2562 เสนอให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการให้มากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุเพิ่มเติมว่า ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การจัดทำและดำเนินโครงการ ทุกอย่างต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ดังเช่นการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้ง 2 พื้นที่ ได้แก่ 1. ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และ 2. พื้นที่ตำบลลำแก่น ตำบลท้ายเหมือง ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง และตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนร่วมพิจารณาด้วย นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมาตรา 18 ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ของประเทศ เพื่อมิให้สูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น ซึ่งในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ 4 พื้นที่ ในจังหวัดเพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และปัตตานี อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดติดตามอย่างใกล้ชิดในการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนด้วย.