รมว.ดิจิทัลฯ เตรียมดำเนินคดีหลายสื่อเผยแพร่และนำเสนอข่าวฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมแจ้งความผู้ใช้โซเชียล หลังพบเข้าข่ายผิดกฎหมาย 3 แสน URL
วันที่ 19 ต.ค. 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา มีกระบวนการใช้โซเชียลมีเดียวสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเวลา 11.00 น.วันนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายให้ปลัดกระทรวงไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่โซเชียลมีเดียผิดกฎหมาย ตั้งแต่ 14 - 18 ต.ค. เรามีการติดตามใช้โซเชียลมีเดียในทุกแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายความผิด รวมถึงการแชร์ด้วย ประมาณ 300,000 URL อยู่ระหว่างทยอยดูบุคคลที่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร เริ่มทยอยแจ้งความดำเนินคดีเป็นวันแรก
“อยากเตือนพี่น้องประชาชนว่า ต้องระมัดระวังการใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องด้วยสถานการณ์วันนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีข้อจำกัดมากขึ้น เรื่องการยุยงปลุกปั่น การทำให้เกิดความแตกแยก เราจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
ส่วนกรณีที่ตำรวจประสานงานให้ตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ข่าวและช่องทางในการนัดหมายชุมนุม นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ในการแจ้งความดำเนินคดี จะมีสำนักข่าวที่เข้าข่ายความผิดด้วย แต่จะถึงขั้นปิดหรือไม่ต้องตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งหากมีคำสั่งศาลให้ปิดก็จะประสานให้ปิดทันที ส่วนสื่อดิจิทัลก็จะประสาน กสทช. ขณะที่สื่อออนไลน์ที่รายงานสถานการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็จะตักเตือนก่อน และจะดำเนินคดีต่อไป เบื้องต้นมีประมาณ 2-3 ราย ที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กออกอากาศ และเป็นสถานีข่าว
...
อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงฯจะเก็บรวบรวมหลักฐานผู้กระทำความผิด ส่วนจะใช้กฎหมายฉบับใดก็จะพิจารณาต่อไป ซึ่งหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็จะดำเนินการทันที พร้อมยืนยันทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ ยอมรับว่าเอกสารคำสั่ง ผบ.ตร. ที่ให้ตรวจสอบสื่อเป็นของจริง แต่จะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงได้ติดตามทั้งสื่อและรายบุคคลอย่างระมัดระวัง และหากสิ่งใดไม่เข้าข่ายชัดเจน ก็ยังไม่ส่งดำเนินคดี ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชน ก็ย้ำว่า ไม่ได้ดำเนินคดีกับทึกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน.