วันนี้เป็น “วันประชาธิปไตย” ของประเทศไทยที่คนไทยคงลืมกันไปแล้ว เป็นวันระลึกถึง วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อ 47 ปีที่แล้ว วันที่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน กว่า 500,000 คน ร่วมกัน ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยจาก รัฐบาลเผด็จการทหาร ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรกของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน จนได้ระบอบประชาธิปไตยมา เป็นประชาธิปไตยที่แลกมาด้วยชีวิต
ปี 2546 ในโอกาสครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ ได้มีมติเอกฉันท์กำหนด ให้ “วันที่ 14 ตุลาคมทุกปี” เป็น “วันประชาธิปไตย” วันนี้เราผ่าน วัน มหาวิปโยค มา 47 ปีแล้ว เราเหลือ “ประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ” และ ไม่รู้จะมีโอกาสเต็มใบหรือไม่ เมื่อนักการเมืองยุคนี้ไร้จิตวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง ยอมเป็นผู้รับใช้เผด็จการทหาร อย่างที่เห็นเพื่อแลกกับอำนาจทางการเมือง
ผมก็เป็นคนยุค 14 ตุลา เป็นนักข่าวไทยรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ประชาชน เพราะรู้จักกับแกนนำนิสิตนักศึกษาหลายคน เช่น คุณธีรยุทธ บุญมี สมัยนั้นการส่งข่าวต้องใช้โทรศัพท์มีสาย แม้จะมีวิทยุสื่อสารแล้ว แต่การส่งข่าวยาวๆ ก็ยังใช้ส่งทางโทรศัพท์ ผมไปทำข่าวอยู่ในกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ใจกลางกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก เมื่อจะส่งข่าวทุกครั้ง จึงต้องออกไปโทรศัพท์ในตู้โทรศัพท์เพื่อไม่ให้คนเห็น กลัวจะถูกหาว่าเป็นสายลับ การเข้าออกแต่ละครั้งก็ลำบากยากเย็น เพราะต้องฝ่ากลุ่มคนเป็นจำนวนมาก
...
ผู้ชุมนุมที่ประเมินว่ามี มากกว่า 500,000 คน ได้เดินจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่าน ถนนราชดำเนิน ไปปักหลักที่ ลานพระบรมรูป ทรงม้า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ระหว่างนั้น แกนนำนักศึกษาได้เข้าเจรจากับรัฐบาล บางส่วนได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หลังจากนั้น พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทมาอ่านให้ผู้ชุมนุมฟัง เวลา 05.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 16 แกนนำการชุมนุมก็ประกาศสลายตัว ผมเองก็เตรียมกลับโรงพิมพ์ เดินตามกลุ่มนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่จะกลับบ้านทางแยกราชวิถี แต่ตำรวจไม่ให้ผ่าน จนเกิดการปะทะกัน และ มีเสียงปืนยิงออกจากสวนสัตว์ดุสิต ทำให้กลุ่มนึกศึกษาแตกฮือลงคูน้ำข้ามไปยังรั้วพระราชวังจิตรลดา ผมเองก็หมอบกลิ้งลงคูน้ำ รอจนทุกอย่างสงบจึงไปขึ้นรถกลับโรงพิมพ์
ระหว่างเดินทางกลับโรงพิมพ์ มีข่าวแจ้งทางวิทยุว่า มีการเผากันหลายจุด บานปลายกลายเป็นจลาจล รัฐบาลจอมพลถนอมส่งทหารและรถถังเข้าปราบ ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการขึ้นเฮลิคอปเตอร์กราดยิงลงมายังผู้ชุมนุมในช่วงบ่าย การปะทะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการเผากรมประชาสัมพันธ์ เผากรมสรรพากร เผากองบัญชาการตำรวจนครบาล
จนกระทั่งค่ำ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ประกาศว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ผู้ชุมนุมยังไม่วางใจ จนค่ำวันที่ 15 ตุลาคม มีประกาศว่า จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกนอกประเทศไปแล้ว และมีการแต่งตั้ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เหตุการณ์จึงสงบ วันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนก็ออกมาช่วยกันทำความสะอาดถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่างๆที่ได้รับความเสียหาย
ก็เก็บเรื่องราวการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของ คน 14 ตุลา มาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าการชุมนุมในวันนี้ของ คณะประชาชนปลดแอก ที่เปลี่ยนชื่อเป็น คณะราษฎร 2563 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มี ความรุนแรงเกิดขึ้น และหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะคืน “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ให้กับประชาชนโดยเร็ว เบื่อแล้ว ทำงานไม่เป็น แก้เศรษฐกิจไม่ได้ มีแต่สาละวันเตี้ยลงเตี้ยลง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”