เป็นอีกคนที่คร่ำหวอดบนถนนสายพลังงาน ผ่านด่านวิกฤติลอยค่าเงินบาทสมัยอยู่แวดวงการเงิน เดินศึกษาสไตล์การทำหน้าที่เชิงตรวจสอบของนักการเมืองเพราะไฟต์บังคับ หลังถูกคณะกรรมาธิการสามัญชุดหนึ่งเชิญมาชี้แจงถึงความโปร่งใสในช่วงเป็นบิ๊กผู้บริหารในเครือ ปตท.

วันนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กำกับดูแลกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สะท้อนมุมมองการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 เริ่มจากงานรับผิดชอบหลัก การสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทย ถือเป็นส่วนสำคัญ ชัดเจนแล้วทั้งนโยบายด้านไฟฟ้า นโยบายด้านก๊าซธรรมชาติ นโยบายด้านพลังงาน รวมถึงพลังงานทดแทนตามเทรนโลก

ภายใต้คนไทยช่วยใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ลดการใช้ เท่ากับลดการผลิต โลกร้อนลดลง

ทุกอย่างมุ่งหน้าพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ วางรากฐานเพื่ออนาคต

และฉายภาพให้เห็นโลกใบนี้ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า แต่ประเทศไทยยังแข็งแรง

พร้อมออกปากเสียดาย “พี่ต๊อก” ปรีดี ดาวฉายที่ลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง เพราะมีอาการป่วยจริง อย่างไรเดี๋ยวก็ต้องมี รมว.คลัง ไม่มีปัญหา

มีคำถามว่าขณะที่ไร้ รมว.คลัง มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร นายสุพัฒนพงษ์ บอกให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินใน “รัฐบาลลุงตู่” ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มีแผนงานใหม่ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม วางเอาไว้

ศบศ.คู่แฝดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นองคาพยพในการทำงานร่วมกัน มีภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหาเข้ามาช่วยผลักดัน

...

และยังมีคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา โดยมีกระทรวงการคลังเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

คณะอนุกรรมการฯแต่ละชุดเสนอมาตรการต่างๆขึ้นไป คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นหนึ่งในกรรมการ เป็นฝ่ายติดตาม และตามไปถึงโครงการที่สำคัญในงบประมาณปี 64

เฉกเช่นโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ถูกออกแบบไว้อย่างไรบ้าง เพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจและรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า...

...หนึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ คือ สร้างความเข้มแข็งระดับฐานราก

วันนี้เราต้องอาศัยการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

ปัญหาการว่างงานถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ กระทรวงแรงงานเตรียมตำแหน่งว่างงานรองรับ 1 ล้านตำแหน่ง และบริษัทในกลุ่มพลังงานก็ต้องการมีส่วนร่วมพลิกประเทศ เป็นจังหวะสร้างภาพจดจำ มีโครงการดึงนักศึกษาจบใหม่เข้าฝึกอบรมก่อนลงพื้นที่จริง พร้อมเทคโนโลยีเกี่ยวกับเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแนะนำชาวบ้าน เกษตรกร แรงงานที่กลับสู่ถิ่น

ส่วนโครงการคนละครึ่งรับ 3,000 บาท ยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยออกแบบตามโจทย์ที่นายกฯระบุว่า “ขอให้ลงถึงฐานราก”

เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ลงไปถึงแม่ค้าแม่ขาย ตลาดสด ตลาดนัด ภายใต้เงื่อนไขใช้วันต่อวันตามเพดานวงเงินที่กำหนดต่อวัน หากไม่ใช้ในวันนั้น วันถัดไปมูลค่าเงินก็ลดลงโดยอัตโนมัติ ไม่เปิดช่องให้สะสมครบ 3,000 บาท เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่

หากสุดวิสัยเกิดโควิดระบาดรอบสอง รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำรองตาม พ.ร.ก.เงินกู้เอาไว้รองรับ ไม่ต้องห่วง คงไม่มีล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะทุกจังหวัดรู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ปลอดไวรัส

สมมติเกิดระบาดก็สั่งล็อกดาวน์เป็นพื้นที่

7 วันจบเหมือน “ระยองโมเดล”

แต่เป็นห่วงพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน

ผู้ประกอบการต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย

คนไทยการ์ดอย่าตก รัฐบาลฝ่ายเดียวเอาไม่อยู่หรอก

มีกระแสข่าวรัฐบาลถังแตก กระทบต่อโครงการคนละครึ่งรับ 3,000 บาทแค่ไหน นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า ไม่ต้องห่วง รัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้แล้ว เงินคงคลังยังมีนับแสนล้าน และยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก

ลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นเราดีกว่าทั้งด้านการป้องกันโควิดและความเป็นอยู่คนละอารมณ์ความรู้สึก แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบเยอะที่สุด เป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้เพราะประเทศไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว

พอไตรมาส 2 หลายประเทศในอาเซียนจีดีพีติดลบมากกว่าไทย

ศบศ.เตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร หากโควิดระบาดรอบสอง นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า ศบค.วางมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม

และขอให้มองมุมบวก เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว รัฐบาลโดนถล่มว่าล้มเหลว ขอให้ดูตัวเลขอัตราห้องพักเดิมแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ได้ขยับขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์

มันมาจากน้ำใจคนไทยที่เขารู้ว่าต้องไปช่วยกัน แม้อยู่ในวงจำกัด เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เดินทางสะดวกโดยรถยนต์ เชื่อว่าวันหนึ่งคนไทยสะดวกเดินทางโดยเครื่องบินก็จะทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น

เช่นเดียวกันในตัวเมืองใหญ่ อาทิ เกาะสมุย ภูเก็ต ซึ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศ ควรหาวิธีทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อสร้างโมเดลเมืองท่องเที่ยว หากทำสำเร็จย่อมได้นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามา

รัฐบาลถูกมองว่าล้มเหลวแก้ปัญหาปากท้อง ในสถานการณ์การเมืองร้อน มั่นใจอย่างไรในการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมา แต่ยังมีคนเดือดร้อนอยู่ดี

เราต้องบริหารความรู้สึกของสังคมและฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กันไป

มาตรการด้านสุดท้ายยังมีบัตรสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย

เพื่อเตรียมรับมือปัญหานี้ได้อยู่หมัดแน่

สิ่งสำคัญอยากเห็นน้ำใจคนไทย ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วจากการร่วมแรงร่วมใจช่วยเติมเต็มในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวคนไทยยังจะช่วยกันตลอดไป

อย่ามองเมืองไทยในภาพลบ จนประชาชนระแวงไม่ใช้เงิน ไม่มีน้ำใจ ไม่ช่วยเหลือกัน อย่าเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่ อย่าให้เห็นเรื่องที่เราทำสำเร็จเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เรื่องดีที่ทำเสร็จต้องยกเอามาเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ผลกระทบทางการเมืองมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า มีแน่นอน

ฉะนั้น เรื่องการเมืองก็ว่ากันไป ขอให้ทำการเมืองวิถีใหม่ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีป้ายแดง มองเป็นโอกาสประเทศไทยอยู่ในจังหวะที่ดีมาก ไทยเดินต้วมเตี้ยม แต่ชาติอื่นล้ม

เราทำดีมีโอกาสพัฒนาประเทศแซงคนอื่น ความสำเร็จที่มีเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้จริงๆ

ใช้ความได้เปรียบตรงนี้เป็นเครื่องมือฟื้นเศรษฐกิจ

แต่มีกระแสการทำรัฐประหารออกมาเป็นระยะ มีผลอย่างไรต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า คงคาดคิดกันไป เกิดจากความกังวลม็อบปลดแอกนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้

ควรเปิดให้ม็อบได้ชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ

หากห่วงการแก้รัฐธรรมนูญใช้เวลานาน ขอให้พูดกันดีๆ

ขอทุกฝ่ายอย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดผลลบทางการเมือง

เพื่อใช้โอกาสนี้เดินหน้าพัฒนาประเทศไทย.

ทีมการเมือง