ในที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับหน้าปกประชาธิปไตยไส้ในเผด็จการ” ก็เริ่มต้นนับหนึ่งได้ซะที
เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วม 2 สภาเป็นแพ็กคู่ทูอินวัน
แถมพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเกิดดวงตาเห็นธรรมมองเห็นตรงกันให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน 200 คน ทำ หน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับใบสั่ง คสช.
แสดงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่แค่หนังโฆษณาแหกตาประชาชน
มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นแล้วซะด้วยซี
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าก่อนจะมองไกลไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน
ต้องเริ่มทะลวงกุญแจล็อกดอกแรก แก้ไขมาตรา 256
เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นต่อไปไม่ติดซอยตัน
จำเป็นต้องพึ่งบริการ ส.ว.ลากตั้ง ช่วยโหวตสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 84 คน
พูดง่ายๆแม้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านจะโหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสภาฯ
ถ้า ส.ว.ลากตั้งไม่โหวตสนับสนุนถึง 84 คน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องจบเห่กลางทาง
“แม่ลูกจันทร์” หยิบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปวางประกบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
เทียบกันบรรทัดต่อบรรทัดมาตราต่อมาตรา
พบว่าทั้ง 2 ร่างยังมีข้อแตกต่างหลายประเด็น
เช่น...หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างฯพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้มีเสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 ของ ส.ส. และ ส.ว.รวมกัน
แต่ร่างฯพรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. 2 สภา
...
ร่างฯของพรรคร่วมฝ่ายค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายกว่าร่างฯ พรรคร่วมรัฐบาล
อีกประเด็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
คือร่างฯของพรรคร่วมฝ่ายค้าน กำหนดให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 120 วันหรือ 4 เดือน
แต่ร่างฯพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้ ส.ส.ร.ยกร่างให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน
“แม่ลูกจันทร์” มองว่ากรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 120 วัน พอเหมาะพอดี ไม่เร็วเกินไปไม่ช้าเกินควร
สรุป ถ้าจะใช้โมเดลแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้เวลาทำคลอดรัฐธรรมนูญใหม่ประมาณ 1 ปี!!
แต่ถ้าใช้โมเดลพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้เวลาทำคลอด 2 ปี
กว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะคลอดออกมาเป็นตัว...
หมอตำแยต้องรอกันเหนียงยาน.
“แม่ลูกจันทร์”