โรคถังแตกกำลังแพร่ระบาดเป็นไฟลามทุ่งไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ล่าสุดเทศบาลและ อบต.เริ่มเกิดอาการถังแตกกันเป็นแถบ ถังแตกถึงขั้นไม่มีจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ถังแตกถึงขั้นต้องเอาเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้แก้ขัด
ถังแตกถึงขั้นไม่มีงบจ่ายค่าอาหารกลางวันนักเรียนและโครงการอื่นๆที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับผิดชอบทั้งหมด
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าสาเหตุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศป่วยเป็นโรคถังแตกอย่างหนัก
เพราะการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนซึ่งเคยเป็นรายได้หลักถูกยกเลิกไป
เปลี่ยนเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตาม ก.ม.ฉบับใหม่ของรัฐบาล
แต่ปรากฏว่ารัฐบาลสั่งขยายเวลาชำระภาษีที่ดินจากเดือนเมษายน เลื่อนไปเริ่มจัดเก็บในเดือนสิงหาคม
เท่ากับช้ากว่ากำหนดไปถึง 4 เดือน!!
แถมรัฐบาลนายกฯลุงตู่ยังออกมาตรการช่วยประชาชน “ลดอัตราภาษีที่ดิน ฯลฯ อีก 90 เปอร์เซ็นต์”
ส่งผลให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยเก็บได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์
เช่น เคยเก็บได้ 100 บาท จะเก็บได้แค่ 10 บาท
ข้อสำคัญ มาตรการล็อกดาวน์ ปิดบ้านปิดเมืองยังส่งผลกระทบให้รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลแบ่งไปอุดหนุนองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นลดฮวบไปอีก 50 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งซ้ำเติมให้โรคถังแตกรุนแรงขึ้นอีกเท่าตัว
“แม่ลูกจันทร์” ขออ้างข้อมูลจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ให้เห็นภาพชัดเจน
ตัวอย่างเช่นเทศบาลนครขอนแก่นเคยเก็บภาษีได้ปีละ 120 ล้านบาท
...
คาดว่าจะเก็บได้จริงๆแค่ 3 ล้านบาท
เทศบาลนครสวรรค์ เคยเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ปีละ 90 ล้านบาท
คาดว่าจะเก็บได้แค่ 4 ล้านบาท
เทศบาลป่าตองภูเก็ต เคยเก็บภาษีได้ 380 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเก็บได้ไม่เกิน 25 ล้านบาท
เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไปบานแห้ว ทำให้โครงการพัฒนาท้องถิ่นต้องหยุดชะงักหมด
ประเมินว่าปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านบาท
กลายเป็นภาระหนักให้รัฐบาลนายกฯลุงตู่ต้องวิ่งหางบอัดฉีดเพิ่มอีกก้อนใหญ่ เพื่อชดเชยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการด่วน
วิธีหางบง่ายที่สุดคือแบ่งเงินกู้วิกฤติโควิด 1 ล้านล้านบาท ไปจ่ายชดเชยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.3 หมื่นล้านบาท
รัฐบาลต้องยอมถังแตกซะเอง เพื่อไม่ให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นทั่วประเทศถังแตก
เฮ้อ...มันยุ่งไม่จบจริงๆพับแผ่.
“แม่ลูกจันทร์”