ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2554 ไกรฤกษ์ นานา เรียกตัวเองว่านักสืบประวัติศาสตร์ เขียนเรื่อง ร้อยปีระทึก เมื่อภาพโมนาลิซ่า หายไปจากพิพิธภัณฑ์ลูฟว์
ไกรฤกษ์ นานา เริ่มต้นว่า ในสมัยนั้นการโจรกรรมวัตถุโบราณที่คนรู้จัก เป็นไปได้น้อย เพราะการปล่อยของออกจำหน่ายทำได้ยาก ร้านขายของเก่าต้องขึ้นทะเบียนและถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกรมศิลปากร การขโมยต้องมีแรงบันดาลใจมากพอ และมีความมั่นใจสูงเป็นแรงกระตุ้น
แรกเริ่มเดิมที ภาพโมนาลิซ่ามิใช่สมบัติประจำชาติของฝรั่งเศส มันเป็น “อิตาเลียน” ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้วาด นางแบบ สถานที่วาด วิวในภาพ แม้แต่ตัวผู้ว่าจ้าง
ประวัติโดยย่อพอสรุปได้ ระหว่าง ค.ศ.1503-1505 ดาวินชีได้วาดภาพหญิงสาวชาวอิตาเลียนชื่อโมนาลิซ่า (เดิมชื่อลาจิโอคอนดา) เธอเป็นภริยาพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งฟลอเรนซ์ ดาวินชีวาดภาพเธอแบบครึ่งตัว วางใบหน้าหันมามองผู้วาด ขณะที่ลำตัวเอี้ยวเล็กน้อย มือและแขนซ้ายวางบนพนักเก้าอี้ ทับไว้ด้วยมือขวา ด้านหลังเป็นทิวทัศน์แถบเมืองมิลานหรืออิตาลีภาคเหนือ
ดาวินชีถ่ายทอดอารมณ์หลายแบบของโมนาลิซ่าไว้ในคราวเดียว เงียบเหงา เศร้าซึม และสงบเสงี่ยมเจียมตัว ซ่อนอยู่ในรอยยิ้มอมตะที่มุมปาก และดวงตาซึ้งๆที่เต็มไปด้วยพลัง
ท่าทางหลายมิติเช่นนี้ เป็นเทคนิคพิเศษของดาวินชี เรียกว่าสฟูมาโต แสดงความก้าวหน้าทางความคิดของจิตรกรที่แตกต่างจากช่างวาดอื่นๆในสมัยเดียวกัน เทคนิคนี้ แก้ปัญหาเรื่องมิติใกล้ไกล สร้างความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แม้ดูสงบนิ่ง แต่เร่งเร้าจินตนาการแก่ผู้พบเห็น
ดาวินชีวาดภาพโมนาลิซ่าที่นครฟลอเรนซ์ อันเป็นที่พำนัก จนถึงปี ค.ศ.1508 ผู้ครองนครมิลานคนใหม่ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ได้ชักชวนให้เป็นช่างวาดหลวงประจำราชสำนักมิลาน ค.ศ.1506 พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส เชื้อเชิญให้ดาวินชีไปวาดภาพให้พระองค์ โดยพระราชทานสตูดิโอในคฤหาสถ์หลังย่อม ที่โคล ลูเซ่ ใกล้พระราชวัง ปราสาทอัมบัวส์
ก่อนดาวินชีเสียชีวิตในปี ค.ศ.1519 เขาได้มอบภาพวาดส่วนตัว ให้ผู้ช่วยชื่อซาลาย ต่อมา พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 ได้ทรงซื้อภาพโมนาลิซ่าจากซาลายในราคา 4,000 เอกุส (เงินสกุลฝรั่งเศสสมัยนั้น) พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 โปรดภาพนี้มาก โปรดให้แขวนภาพไว้ในคอลเลกชั่นส่วนตัว ณ พระราชวังฟองเตนโบล
ภาพโมนาลิซ่าตกเป็นสมบัติของกษัตริย์ฝรั่งเศส ผ่านไปยังกษัตริย์องค์ต่อๆมา ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้ย้ายภาพไปประดับไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีส์ และที่พระราชวังลูฟว์
และที่พระราชวังลูฟว์ ซึ่งต่อมาได้เป็นพิพิธภัณฑ์ นี่เอง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ค.ศ.1911 ตรงกับ พ.ศ.2454 ต้นรัชกาลที่ 6 ของไทย ภาพโมนาลิซ่า ได้ถูกโจรกรรมหายไป
วันแรกที่ภาพโมนาลิซ่าหาย ทางพิพิธภัณฑ์พยายามปิดข่าว โดยแจ้งแก่ผู้เข้าชมภาพว่าท่อน้ำขนาดใหญ่แตก ต้องปิดพิพิธภัณฑ์ซ่อมใหญ่ ผู้บริหารลูฟว์กังวลการทำลายรูปมากกว่าการขโมยรูป
เรื่องราวต่อไปนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2 ปี 4 เดือน 18 วัน ที่ภาพโมนาลิซ่าหายไป
กล่าวกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังใบสั่งโจรกรรมภาพโมนาลิซ่า เรียกกันในวงการว่า ซินยอเร่ มหาเศรษฐีเชื้อสายสเปน-อาร์เจนตินา ผู้ถูกเลือกว่าจ้าง สองคน คนแรก นายเปรูเจีย ช่างไม้ชาวอิตาเลียน และเพื่อนชื่อวินเซนต์ นายเปรูเจียเป็นพนักงานเก่าของลูฟว์ รู้ช่องทางหนีทีไล่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ชนิดหลับตาเห็น
เปรูเจียเริ่มงานในวันอาทิตย์ ซ่อนตัวอยู่ในตู้เก็บของ เริ่มงานในวันจันทร์ วันหยุดของลูฟว์ ปลอดคน ปลอดยาม แต่เป็นวันเปิดให้คนงานเข้าไปซ่อมปรับปรุงพื้นที่ เขาจึงออกมาทำท่าเป็นคนงาน หิ้วภาพโมนาลิซ่าออกไป ซ่อนภาพไว้ในลังไม้เก็บเข้าของส่วนตัวในห้องเช่าราคาถูกกลางกรุงปารีส
48 ชั่วโมง หลังภาพโมนาลิซ่าหาย หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสรายงานข่าว เร่งเร้าให้เกิดกระแส
โมนาลิซ่า ฟีเว่อร์ ขึ้นทั่วโลก การปลุกกระแสของสื่อ ทำให้ราคาภาพโมนาลิซ่าพุ่งกระฉูดในโลกนักค้าของเก่า มีข่าวเล่าลือหลายกระแสทำนองว่า ภาพโมนาลิซ่าตกไปอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์มั่งคั่ง ข่าวการจับแพะรับบาป กระทั่งข่าวการทำลายภาพทิ้ง
กระแสโมนาลิซ่า กดดันซินยอเร่ ไม่กล้ารับมอบภาพจากหัวขโมย แต่ก็ยอมจ่ายเงินให้ 1 ใน 3 ตามเงื่อนไข
เปรูเจียรับงานทาสีต่อไป เพื่อรอคำสั่ง “มอบภาพ” เพื่อรับเงินก้อนสุดท้าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี ไม่มีวี่แววข่าวจากซินยอเร่ เปรูเจียตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน นครฟลอเรนซ์ อิตาลี เขาตัดสินใจ ติดต่อขายภาพให้ร้านขายรูปเก่าแห่งหนึ่งในราคา 500,000 ลีร์ (ราว 100,000 ดอลลาร์)
และเมื่อถึงวันเวลานัดหมายรับเงิน 12 ธ.ค.1913 เปรูเจียก็ถูกจับ คำให้การของเขามีประเด็นน่าเห็นใจ เขารู้ว่าภาพนี้เป็นของอิตาลี เขาจึงนำกลับอิตาลี สุดท้ายเขาถูกตัดสินจำคุก 7 เดือน
ส่วนภาพโมนาลิซ่า รัฐบาลอิตาลีนำเปิดแสดงให้ชาวอิตาลีชม แล้วก็ส่งคืนให้ฝรั่งเศส ในวันที่ 4 ม.ค.1914 วันแรกในการเปิดให้ชม มีชาวฝรั่งเศสเบียดเสียดกันไปเข้าคิวดูถึง 1 แสนคน
ไกรฤกษ์ นานา ทิ้งท้ายข้อเขียนเรื่องนี้ว่า เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ มิได้อยู่ที่การตัดสินความถูกผิดของบุคคลในอดีต และมิได้อยู่ที่การติเตียน หรือการปฏิเสธความจริงโดยคนรุ่นหลัง แต่อยู่ที่ความเข้าใจกับเรื่องที่ผ่านมาด้วยใจเป็นธรรม ผ่านการสืบหาข้อมูล การตรวจสอบหลักฐาน การเปิดเผยข้อเท็จจริง และการตีความ
นั่นคือรสชาติของประวัติศาสตร์ ซึ่งคนรุ่นหลังควรยอมรับและให้เกียรติ และศึกษามันเป็นอุทาหรณ์ เพื่อจะได้รักษาสิ่งที่ยังมีอยู่ในวันนี้ให้ดีที่สุด และตลอดไป.
...
บาราย