ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ "ม็อบ" ในสังคมไทย มีมานานตั้งแต่อดีต จากการรวมกลุ่มของผู้คน เพื่อจุดกระแสหวังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้อง ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ตามยุคสมัย และพัฒนาการของเทคโนโลยีในยุคนั้นๆ จนมาถึงปัจจุบัน เข้าสู่ยุคก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เกิด "แฟลชม็อบ" ในอีกรูปแบบในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ด้วยการสื่อสารชักจูงผู้ร่วมอุดมการณ์ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต

พัฒนาการของ "ม็อบไทย" หรือการรวมกลุ่มของคนในสังคมการเมืองไทย มีมาตั้งแต่ก่อนปี 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากการบอกเล่าของ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยผู้คนในยุคนั้นส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นโดยอำนาจรัฐ จนกลายสภาพเป็นกบฏ เพราะไม่สามารถต่อสู้เรียกร้องได้ และในปี 2500 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเลือกตั้งมากว่า 10 ปี แต่ด้วยหลายๆ ปัจจัยทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และการที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาท ได้เปิดให้กลุ่มความคิดต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม กระทั่งเกิดการเมืองภาคประชาชนร่วมสมัย

...

จุดเริ่มนิสิตนักศึกษา ไม่ทนเผด็จการ สู่เหตุนองเลือด

ถือเป็นจุดเริ่มต้นการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา และชนชั้นกลาง ในเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ผ่านเครื่องมือการสื่อสารแจ้งข่าวด้วยสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม ทั้งการแจกใบปลิว โปสเตอร์ จนสามารถโค่นล้มเผด็จการทหาร เครือข่าย "จอมพลถนอม-ประภาส" ต้องออกไปนอกประเทศ

จากนั้นการเมืองไทยได้ไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญปี 2517 เกิดการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลในสมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จนมาสมัยรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร จะกลับเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2519 โดยการบวชเป็นสามเณรบังหน้า จนเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ระหว่างฝ่ายขวา กลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งมีการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดงและกลุ่มนวพล เพื่อกวาดล้างฝ่ายซ้าย กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง ซึ่งมีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อต่อต้านจอมพลถนอม ไม่ให้เข้ามาไทย

"เหตุการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวในยุคนั้น ใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ และใบปลิวเป็นหลัก โดยฝ่ายรัฐบาลได้ใช้หนังสือพิมพ์ดาวสยาม สร้างกระแสชวนเชื่อใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษา ให้ประชาชนเกลียดชัง"

'พฤษภาทมิฬ' ม็อบมือถือ ชนชั้นกลาง ต้าน รสช.

ต่อมาในปี 2531 ยุคที่ประเทศไทยกำลังมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ทั้งภาคทุนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการสื่อสารคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยรสช.ในปี 2534 นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2534 สู่การเลือกตั้งปี 2535 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และไม่ยอมรับพล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพล.อ.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อต่อสู้กับเผด็จการ

“การชุมนุมประท้วงในยุคนั้น เริ่มมีการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนในต่างจังหวัด จนเรียกขานม็อบครั้งนั้นว่าม็อบมือถือ และมีการส่งเอกสารต่างๆ ไปยังสำนักงาน ออฟฟิศต่างๆ ให้พนักงานมาร่วมชุมนุม จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535”

จุดเปลี่ยนม็อบไทย ยุคทีวีดาวเทียม แยกเป็น 2 ฝ่าย 

ในปี 2548 เป็นจุดเปลี่ยนในการชุมนุมเคลื่อนไหว เนื่องจากมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นครั้งแรก และมีสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดการชุมนุมผู้ร่วมอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ให้ถูกครอบงำจากกลุ่มนายทุนในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้อยู่ไม่ครบวาระหลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เพราะทนกระแสต่อต้านไม่ไหวจนต้องยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พรรคการเมือง 3 พรรค ซึ่งเป็นฝ่ายค้านเดิม ไม่ยอมส่งผู้สมัคร และต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งมีการใช้นิวมีเดีย ในการสื่อสาร ทั้งทีวีผ่านดาวเทียม การจัดรายการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองรายสัปดาห์ มีการเริ่มใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ผ่านการสื่อสารทางเว็บบอร์ด และจัดทำวีซีดีเพื่อจำหน่าย

“สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีสื่อรูปแบบใหม่เข้ามา ทั้งทีวีดาวเทียม เว็บบอร์ดต่างๆ มากขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการควบคุมโดยรัฐบาล มีการออกพ.ร.บ.คอมฯ ในปี 2550 หลังการเกิดรัฐประหารในปี 2549 พร้อมๆ กับการก่อตัวของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐประหาร พัฒนาจาก นปก. มาเป็น นปช. ในปัจจุบัน”

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2557 มีการเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่า ถือได้ว่าเป็นดุลอำนาจใหม่ทางการเมือง โดยปี 2551 เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มมีโซเชียลมีเดีย ในช่วงแรก แต่ยังไม่มีอิทธิพลมาก พร้อมกับการขยายตัวของสื่อต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อดาวเทียมของแต่ละฝ่าย

โซเชียลมีเดียทรงอิทธิพล เครื่องมือม็อบ ชุมนุมเคลื่อนไหว

จนเมื่อปี 2553 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดการชุมนุมกลางแยกราชประสงค์ โดยกลุ่ม นปช. ซึ่งขณะนั้นสื่อโซเชียลมีเดีย ได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้มีการพูดคุยทางโซเชียลมีเดีย ผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.ในช่วงปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยใช้สื่อโซเชียลมากขึ้น รวมถึงคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับ "ทักษิณ ชินวัตร" จนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

“ช่วงนั้นเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในการชุมนุมของแต่ละฝ่าย ระหว่างออฟไลน์ กับออนไลน์ ในการคุยกันทางโซเชียลมีเดีย ทำให้รัฐต้องเข้ามากำกับดูแลโลกออนไลน์อย่างมากมาย โดยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2557 กฎหมายควบคุมอินเทอร์เน็ตล้วนแล้วมาจากฝีมือรัฐประหารทั้งสิ้น กระทั่งปี 2560 เป็นต้นไป มีการเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอีก สู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนรัฐต้องพัฒนาการกำกับควบคุมให้มากขึ้นตามมา ทั้งการออกพ.ร.บ.คอมฯ ปี 2560 การบังคับใช้พ.ร.บ.ไซเบอร์ เพื่อควบคุมมวลชน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งทางรัฐก็ต้องสร้างกลุ่มของรัฐบาลในโลกไซเบอร์ไปด้วยเช่นกัน จนโลกออฟไลน์ แยกกันไม่ออกกับออนไลน์”

ปัจุบันยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น จากกรณีกลุ่มนิสิตนักศึกษาทำการนัดหมายในการเคลื่อนไหว ผ่านช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ จนแยกกันไม่ออก ระหว่าง "แอร์ วอร์" กับ "กราวนด์ วอร์" และเห็นว่าการชุมนุมในปัจจุบันจะลงลึกไปเรื่อยๆ จากเดิมที่มีเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาและชนชั้นกลางบางกลุ่มในเหตุการณ์ปี 2535 กระทั่งมีการขยายไปยังชนชั้นกลางมากขึ้นในปี 2548 พร้อมเครื่องมือต่างๆ ในการเคลื่อนไหว

กระทั่งปี 2563 การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้กลับมาอีก และลงลึกไปในระดับนักเรียนมัธยม ผ่านการรับรู้ข่าวสารมากมายทางโลกออนไลน์ นำไปสู่การเรียกร้องต่างๆ ที่มีการพัฒนาเช่นเดียวกับต่างประเทศ อย่างม็อบ "ปฏิวัติร่ม" ในฮ่องกง เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีกับการเมืองในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และในอนาคตการชุมนุมในโลกออนไลน์ จะแยกไม่ออกจากโลกออฟไลน์ เช่นกัน เกิดการเคลื่อนไหวผ่านการติดแฮชแท็ก เพื่อแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพ โดยไม่มีพรมแดน แม้รัฐบาลมีพ.ร.บ.คอมฯ ออกมากำกับดูแลก็ไม่สามารถควบคุมได้ 100% เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลกว้างใหญ่ไพศาล และสามารถเข้าไปทำลายแทรกซึมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐจะเข้ามาควบคุม.

ผู้เขียน : ปูรณิมา