ช่วงนี้ นักเรียน นักศึกษา ออกมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น หลังจากที่เงียบไปหลายสิบปี มีการชุมนุม “แฟลชม็อบ” ในทุกภูมิภาค การชุมนุมทุกครั้งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าจุดติดแล้ว แฟลชม็อบล่าสุดที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีนักศึกษาประชาชนไปร่วมชุมหลายหมื่นคน ดูจากภาพถ่ายมุมสูงแล้วคนเต็มไปหมดรอบอนุสาวรีย์ และถนนราชดำเนินทั้งสองด้านมากมายจริงๆ

การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มประชาชนปลดแอก เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ ยุบสภา ถือว่ามีเหตุผลที่รัฐบาลควรรับฟัง

นอกจากนี้ นักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศ ก็ให้ความสนใจการเมืองมากขึ้น มีการชู 3 นิ้วแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการหลังเคารพธงชาติ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจมานาน 6 ปี รู้สึกไม่ค่อยพอใจ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.ว่า เขาเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเด็กๆ แต่เท่าที่รับฟังมา เด็กหลายคนไม่เข้าร่วมก็จะถูกบูลลี่ ถูกกีดกันจากกิจกรรมในสถานศึกษา ไม่ให้เข้ากลุ่ม เป็นเรื่องอันตราย

แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ถูกบูลลี่เครื่องประดับบนข้อมือเหมือนกัน กลับตอบนักข่าวที่ไปถามเรื่องเด็กนักเรียนมัธยมแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ว่า “อ๋อ ลูกเสือ ลูกเสือ” ถือเป็นคำตอบที่มองโลกแบบสร้างสรรค์

ความจริง นักเรียน นักศึกษาให้ความสนใจการเมืองและปัญหาบ้านเมือง รัฐบาลควรดีใจด้วยซ้ำ เป็นความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปการเมือง แทนที่จะกีดกันและกล่าวหาว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง มาตรา 95 ใน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็บัญญัติให้ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีขึ้นไป นักเรียนมัธยมปลายและนิสิตนักศึกษาล้วนมีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งนั้น พวกเขาควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก่อนอายุ 18 ปีด้วยซํ้า เพื่อให้มีประสบการณ์ทางการเมืองก่อนไปเลือกตั้ง ไม่ใช่มองพวกเขาแบบคนอคติว่า นักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งๆที่ อนาคตของบ้านเมืองเป็นของพวกเขา ไม่ใช่พวกคนแก่ที่มีอายุเกิน 60 ปีไป พวกเขาควรจะมีสิทธิมีเสียงในการร่วมตัดสินใจ เหมือนลูกๆในครอบครัว

...

วันนี้ผมเพิ่งอ่านบทความของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวช ในไลน์ที่ส่งต่อกันมาเรื่อง “นักปฏิรูปการศึกษาควรดีใจกับม็อบนักศึกษามิใช่หรือ” คุณหมอตั้งคำถามว่า เราปฏิรูปการศึกษาเพื่ออะไร? คำตอบก็คือ เพื่อให้เด็กไทยรู้จักคิด รู้จักถาม มีความใฝ่รู้ และมีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และเวลา เรื่อง นิสิต นักศึกษา รวมทั้ง นักเรียนมัธยมปลาย ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบนี้ ควรเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่ทำงานปฏิรูปการศึกษา พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขารู้จักคิด รู้จักถาม มีความใฝ่รู้ และมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาคิดและถามเรื่องการเมือง? หรือว่า เราจะปฏิรูปการศึกษาโดยมีเงื่อนไขห้อยท้ายว่า ห้ามคิดห้ามถามเรื่องการเมือง ซึ่งควรรู้อยู่แก่ใจว่า ทำมิได้ เพราะที่แท้แล้ว การเมืองอยู่รอบตัวเราทุกคน

คุณหมอเห็นว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเป็นองค์กรสำคัญในการยืนยันเสรีภาพของนักศึกษา ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่ที่ตั้งคำถามได้โดยเสรี คำถามที่ควรถามมหาวิทยาลัยเป็นคำถามแรกคือ มีมหาวิทยาลัยแห่งนั้นไว้ทำไม หรือว่ามหาวิทยาลัยมีเงื่อนไขห้อยท้ายเช่นเดียวกันว่า จะถามอะไรก็ได้ยกเว้นเรื่องการเมือง

ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมลํ้า ความยากจน ล้วนเกิดจากฝีมือ นักการเมือง ทั้งสิ้น ผมเห็นด้วยกับคุณหมอว่า การตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาครั้งนี้เป็นเรื่องดี ถ้านายกฯอยากจะ ปฏิรูปการเมืองให้ดี อย่างที่พูดทุกวัน ก็ควรสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาออกมาปฏิรูปการเมืองร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นของพวกเขาอย่างจริงจัง เพราะ อนาคตของประเทศเป็นของพวกเขา ไม่ใช่คนแก่อย่างพวกเรา.

“ลม เปลี่ยนทิศ”