ก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงชื่อ “แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หลายคนก็มักจะรู้จักกันในนาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันจนชินปากคือ โฆษกรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาลด้วย ไม่เท่านั้นยังเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่มี บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กุมบังเหียนพรรค กระทั่งมาถึงวันที่เกิดการปรับเปลี่ยน รัฐมนตรีลาออกหลายคน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 จึงต้องถือกำเนิดขึ้น เพราะกระทรวงเหล่านั้นขาดคนไม่ได้ ช่วงนั้นมีกระแสลือหนาหูว่า นฤมล เตรียมลาออกจากโฆษกรัฐบาล เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว

30 ก.ค. 2562 แถลงข่าวครั้งแรกในฐานะโฆษกรัฐบาล
30 ก.ค. 2562 แถลงข่าวครั้งแรกในฐานะโฆษกรัฐบาล

ครบ 1 ปีโฆษกรัฐบาล ก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

...

นฤมล ทำหน้าที่แถลงข่าวในฐานะโฆษกครั้งสุดท้ายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 และอยู่ในตำแหน่งนี้วันสุดท้ายคือ 30 ก.ค. 2563 วันเดียวกับที่หนังสือลาออกมีผล ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ครบ 1 ปีพอดิบพอดี ระหว่างนี้สื่อมวลชนหลายสำนักก็ประโคมข่าวเปิดโผรายชื่อที่คาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ ซึ่งจะมาแทนรัฐมนตรีเก่าที่ลาออก ในเวลาต่อมาวันที่ 6 ส.ค. 2563 นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว และยังเป็นวันเดียวกับที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นมีชื่อ นฤมล อยู่ด้วย

ถึงวันนี้ นฤมล เข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งใหม่แล้วกับบทบาท “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน” หลังจากเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ประยุทธ์ 2/1 มีเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเท่านั้น อีกทั้งกระทรวงนี้ยังเกี่ยวข้องกับปากท้องพี่น้องผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก นฤมล ที่ถือเป็นรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงจะหยิบจับงานอะไร ดูแลส่วนไหน อยู่ที่นายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงอย่าง สุชาติ ชมกลิ่น จะมอบหมาย

เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ
เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ
12 ส.ค. 2563 นฤมล เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ พร้อมกับรัฐมนตรีใหม่และเก่าใน ครม.ประยุทธ์ 2/2
12 ส.ค. 2563 นฤมล เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ พร้อมกับรัฐมนตรีใหม่และเก่าใน ครม.ประยุทธ์ 2/2

จับงานชิ้นแรก “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน”

นฤมล กล่าวถึงนโยบายที่ได้มอบหมายในการร่วมประชุม ครม. ในฐานะรัฐมนตรีครั้งแรก ว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ยกระดับฝีมือแรงงาน และยกระดับกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะมีความสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเศรษฐกิจที่จะต้องรองรับการแก้ปัญหาโควิด-19 และยังให้ถือโอกาสนี้ปรับและพัฒนาเพิ่มทักษะแรงงานไทยไปด้วย ปฏิรูปไปพร้อมๆ กับคณะกรรมการขับเคลื่อนที่เพิ่งตั้งขึ้น ซึ่ง สุชาติ มอบให้ดูแล “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) จึงถือเป็นงานหลักงานแรก ส่วนเรื่องการว่างงานและสวัสดิการนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ดูแล

สิ่งที่จะต้องทำเพิ่มเติมคือหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รูปแบบของทักษะจะเปลี่ยนไปอย่างไร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยากให้มีการบูรณาการร่วมกันของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็มีความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ อยู่บ้าง เพียงแต่อาจจะไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์มากนัก จึงต้องทำให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น ทั้ง หม่อมเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และรัฐมนตรีคนก่อนหน้าก็พยายามที่จะยกระดับฝีมือแรงงานมาโดยตลอด

14 ส.ค. 2563 สุชาติ ชมกลิ่น และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เข้ากระทรวงแรงงานหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี
14 ส.ค. 2563 สุชาติ ชมกลิ่น และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เข้ากระทรวงแรงงานหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี

เคยร่วมทีมร่างแผนยุทธศาสตร์แรงงาน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 นฤมล เคยเข้ามาช่วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ร่างแผนยุทธศาสตร์เรื่องการเพิ่มทักษะ (Upskill) และการปรับเปลี่ยนทักษะ (Re-skill) ซึ่งรัฐมนตรีที่มาดำรงตำแหน่งต่อก็เดินในแนวทางนี้ นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำในที่ประชุม ครม. ว่า ต่างประเทศอยากได้แรงงานจากประเทศไทย เคยกำชับตั้งแต่ก่อนที่จะปรับ ครม. และการประชุมเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ว่า ให้เตรียมแรงงานไทยให้พร้อมส่งไปทำงานต่างประเทศ หากถึงเวลาที่สามารถเดินทางได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งของแรงงานไทย รวมถึงต้องประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทราบลักษณะแรงงานที่ประเทศเหล่านั้นต้องการ กระทรวงแรงงานจะได้เตรียมทักษะแรงงานไทยให้พร้อมตามหลักสูตร

ติดตามนายกรัฐมนตรีในฐานะโฆษกรัฐบาล
ติดตามนายกรัฐมนตรีในฐานะโฆษกรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีร่วมนั่งแถลงข่าวด้วย
นายกรัฐมนตรีร่วมนั่งแถลงข่าวด้วย

ยกระดับฝีมือแรงงาน ต้องได้รับค่าจ้างสูงขึ้น

เป้าหมายที่อยากจะให้เกิดขึ้นนอกจากการพัฒนาทักษะและอบรมแรงงานไทยแล้ว นฤมล อยากจะให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น และมีการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจริง ซึ่งนายจ้างที่มีการทำความตกลงร่วมกันเขาก็ยินดี ส่วน labor intensive (แรงงานเข้มข้น) หรือ unskilled labor (แรงงานไร้ฝีมือ) เราจะต้องยกระดับขึ้นมาให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ เพราะจะทำให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งค่าจ้างต่อวันสามารถขึ้นไปได้มากกว่า 800 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ ความชำนาญของแต่ละสาขาอาชีพที่ต้องผ่านการทดสอบตามเงื่อนไข เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ภาคเหนือ (NEC) และภาคใต้ (SEC) จะต้องพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไปเพื่อรองรับพื้นที่เศรษฐกิจเหล่านี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น เรามีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 แห่งใน 25 จังหวัด สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 52 แห่งใน 52 จังหวัด รวมแล้วครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับงานเกี่ยวกับ “ประกันสังคม” นฤมล บอกว่าหากได้รับมอบหมายก็พร้อมที่จะช่วยดูแล

ทีมโฆษกหญิงล้วน
ทีมโฆษกหญิงล้วน

รัฐมนตรีกับโฆษก บทบาทคนละมิติ ขอให้มั่นใจพร้อมแก้ปัญหา

บทบาทของรัฐมนตรีนั้นเป็นงานบริหาร การรับมอบนโยบาย การดูแลพี่น้องประชาชน นายจ้าง และลูกจ้าง รวมถึงหลังจากนี้ก็จะการลงพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย ขณะที่งานโฆษกรัฐบาลเป็นการพูดแทนนายกรัฐมนตรี ต้องดูในประเด็นที่ละเอียดอ่อน พูดได้หรือไม่ คนละบทบาทอย่างสิ้นเชิง

นฤมล ยังให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายแต่ไม่ทิ้งมาดโฆษก ว่า “ท่านนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่าต้องการให้กระทรวงแรงงาน เป็นกระทรวงสำคัญอีกกระทรวงหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ฉะนั้น กระทรวงแรงงาน ถือว่ามีภารกิจมากพอสมควรในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน นั่นหมายความว่าท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการด้วย ขอให้มั่นใจว่าทีมงานของกระทรวงแรงงานเราจะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะตอบสนองนโยบายของท่านนายกฯ ในการรวมไทยสร้างชาติ บูรณาการร่วมกระทรวง หน่วยงานอื่น รวมถึงภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

18 ส.ค. 2563 สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำเนียบรัฐบาล
18 ส.ค. 2563 สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำเนียบรัฐบาล

ซินแสเอ่ยปาก “โหงวเฮ้งดี อนาคตไกล”

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ส.ค. 2563) นฤมล ถือฤกษ์งามยามดีช่วงเช้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนร่วมประชุม ครม. และในวันเดียวกัน ซินแสภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ได้พูดถึง นฤมล ด้วยว่า เป็นคนโหงวเฮ้งดี ขอให้จับตาดู ดวงชะตายังไปอีกไกล

เราได้พูดคุยหลักการ นโยบายที่ได้รับมอบหมาย และความตั้งใจของ “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานป้ายแดง” กันไปพอหอมปากหอมคอแล้ว หลังจากนี้มารอดูว่า นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะนำพา “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ไปได้ไกลแค่ไหน จะเห็นแรงงานไทยพัฒนาทักษะเพื่อสอดรับกับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้อย่างไร ติดตามการพิสูจน์ฝีมือของรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

ภาพ : Royal Thai Government, Facebook นฤมล ภิญโญสินวัฒน์