การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเมืองไทยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วทุกวงการ แต่การแก้ไขปรับปรุงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้ทันยุคทันสมัยและทันความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ก็น่าพิจารณา
มีบทความคิดเห็นของ ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง ในเรื่อง “เร่งขจัดอุปสรรคปฏิรูปที่ดินพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” เป็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ในประเด็นที่ระบุว่า
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังโควิดจะว่าไปก็มีทางออกมากมาย หากภาครัฐและราชการทบทวนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจในประเทศไทย อะไรที่จะผ่อนปรนได้ก็ต้องรีบผ่อนปรน กฎหมาย กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบใดที่ติดขัดก็ควรหาทางปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว อย่าปล่อยให้ปัญหานั้นกระทบกับการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศในทุกด้านทุกชนิด ควรได้รับการพิจารณาหาทางพัฒนาปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากความถดถอยอย่างเร่งด่วน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเรื่องนี้ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 29 กรกฎาคม 2563 ว่า อยากจะฝากเรื่องการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับที่อาจจะยังไม่ทันสมัยและไม่เอื้อต่อการทำงานในยุคปัจจุบันที่มีการทำงานแบบ นิว นอร์มอล โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน จึงฝากกระทรวงและหน่วยงานได้เร่งรัดกฎหมายออกมารองรับ
เมื่อพิจารณาตามกฎหมายตามปกติ พระราชกฤษฎีกา การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558 มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 13 เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามกาลสมัยและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการมีหน้าที่จัดให้มีการพิจารณา ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกห้าปีที่กฎหมายใช้บังคับ หรือเมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
...
1.เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย
2.ได้รับหนังสือร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะจากองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือจากประชาชนทั่วไป และรัฐมนตรีผู้รักษาการเห็นว่าข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะนั้นมีเหตุผลอันสมควร
3.ได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
4.เมื่อปรากฏว่า มิได้มีการบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายเกินสามปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหนีไม่พ้นต้องใช้วัสดุก่อสร้างก็มีแหล่งหินแหล่งแร่ที่ต้องได้รับการอนุญาตให้ประทานบัตรทำเหมืองจากรัฐก่อน เอกชนจึงจะสามารถทำได้ แหล่งแร่แหล่งหินเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถกำหนดพื้นที่กำเนิดได้ ทางภาครัฐจึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าถึงแหล่งหินแร่ให้ได้มากที่สุด และคำนึงถึงประชาชนโดยรอบที่อยากจะมีส่วนร่วมในการออกแบบที่อยู่ของเขาว่าควรเป็นแบบไหนอย่างไร
การขับเคลื่อนให้มีการอนุญาตในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเป็นศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
นั่นยังไม่รวมถึงกิจการอื่นที่เป็นแหล่งปิโตรเลียม พลังงานทางเลือกที่เป็นกังหันลม หรือแสงอาทิตย์ หรือเชื้อเพลิงชีวมวล หรือแม้แต่รีสอร์ตที่สนับสนุนการเรียนรู้ทางเกษตรนิเวศที่เกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนให้เกษตรในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ยังเป็นความหวังทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดของประเทศที่สามารถจะกระจายไปได้หลายจังหวัด และเพิ่มการจ้างแรงงานอีกด้วย
นี่เป็นทัศนะที่น่าสนใจในการมองถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า แต่ต้องไม่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน.
“ซี.12”