นายกฯ พอใจ บริษัทการจัดอันดับเรตติ้งของญี่ปุ่น มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แนวโน้มการลงทุนต่างชาติเพิ่ม ยัน ไทยมีแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะรัดกุม

วันที่ 7 ส.ค. 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ยืนยันมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable outlook) และความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศที่ระดับ A- และสกุลเงินบาทที่ระดับ A เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างมีประสิทธิภาพ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

...

ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีข้อมูลที่น่ายินดี เมื่อบีโอไอ เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (ม.ค. - มิ.ย.) รวม 754 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 มูลค่าเงินลงทุน 158,890 ล้านบาท และเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในโครงการใหม่ถึง 366 โครงการ หรือร้อยละ 49 โดยมียอดเงินลงทุนรวม 42,520 ล้านบาท ขณะที่เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีถึง 225 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลทำงานแบบ New Normal เดินหน้าสู่อนาคต มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ยังคงยึดวินัยการเงินการคลัง รักษาระดับหนี้สาธารณะ พร้อมมอบแนวทางให้สำนักบริการหนี้สาธารณะที่ดูแลเรื่องการกลั่นกรองแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) และแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ยึดเหตุผลความจำเป็นและความต้องการเงินกู้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุน การดำเนินโครงการ/แผนงาน นำไปสู่การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19
 
อย่างไรก็ตาม น.ส.รัชดา ยังย้ำด้วยว่า การจัดเรตติ้งของญี่ปุ่นเป็นสัญญาณที่ดี สร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่รัฐบาลพร้อมขับเคลื่อนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ และการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้ทำมาแล้วหลายโครงการมาก และยังคงจัดสรรงบประมาณให้เดินหน้าต่อไป.