รมว.ยุติธรรม ยัน รบ.แก้หนี้นอกระบบต่อเนื่อง หากขบวนการใหญ่ ส่งต่อดีเอสไอ ตั้งเป็นคดีพิเศษ ลั่น เดินหน้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล คาดรับฟังความเห็นตาม ม.77 ย้ำ รัฐบาลไม่เคยเลือกปฏิบัติ-2 มาตรฐาน

วันที่ 3 ส.ค. มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามของสมาชิก 

โดย นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการในการจัดการปัญหาการปล่อยเงินกู้หนี้นอกระบบ ที่เจ้าหนี้นอกระบบมีวิธีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างแอปพลิเคชันเข้ามาปล่อยหนี้ และติดตามทวงถามหนี้ ดังนั้นจึงอยากสอบถามไปยัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่เป็นผู้ตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้รับทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการจัดการ

จากนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า ตนได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน ซึ่งก็ได้รับข้อมูลในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย แต่ตนมองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลก่อนๆ ด้วยการคืนโฉนดให้กับประชาชนที่เป็นหนี้ แต่สุดท้ายประชาชนก็ยังเป็นหนี้ หรือเมื่อประชาชนขัดสนก็นำโฉนดที่ได้คืนไปกู้หนี้ยืมสินที่อื่นอีก จึงกู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางกรณีก็เป็นดอกลอย ไม่สามารถใช้เงินต้นได้เลย นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น

นายสมศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาเงินกู้หนี้นอกระบบมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา หากประชาชนมีปัญหาก็สามารถร้องเรียนได้ที่สถานีตำรวจ หรือศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ โทร. 1599 หรือโทร 02-575-3344 เพื่อติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตลอดจน สายด่วน 1359 เพื่อติดต่อศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ที่ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ ขอย้ำว่ารัฐบาลรับทราบปัญหาการกู้เงินนอกระบบผ่านแอปพลิเคชัน โดยถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้ ซึ่งดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนอยู่ตลอดเวลา ยืนยันทำงานกันอย่างเต็มที่

...

ทั้งนี้ มาตรการปราบปรามผู้ที่กระทำผิดกฎหมายนั้น รัฐให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยงานหลักในการปราบปราม หลังจากรับเรื่องราวร้องเรียนของพี่น้องประชาชน แต่หากเป็นขบวนการใหญ่ก็จะมอบหมายให้ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการแล้วตั้งเป็นคดีพิเศษ จากนั้นนำมาตรการทางภาษีและการฟอกเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มาร่วมใช้ในการดำเนินการด้วย เพื่อให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมย้ำอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามารถเอาผิดกับคนปล่อยเงินกู้ได้ รวมถึงเป็นข้อหาอังยี่ ซ่องโจร ฟอกเงินด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่า จะช่วยเหลืออย่างไร หากลูกหนี้นำหลักประกันไปไว้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็จะดำเนินการในข้อหาดอกเบี้ยเกินอัตรา และรัฐช่วยประสานหาแหล่งใหม่ๆ เช่น ธนาคารออมสิน จะแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้และลูกหนี้ยอมรับว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบค่อนข้างยากและไม่ทั่วถึง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจะต้องบูรณาการกันหลายกระทรวง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวชี้แจงว่า ตนมองเห็นปัญหาของความยากจนของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเรือนจำ ที่เคยก่ออาชญากรรม ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากความยากจน สุดท้ายกรมราชทัณฑ์ก็ต้องเลี้ยงดู ทั้งนี้ ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน เคยส่งแรงงานไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งหากใครรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาท้องถิ่นนั้นๆ ก็จะได้รับเงินเดือนที่มากขึ้น ดังนั้นตนจึงริเริ่มให้ผู้ต้องขังได้เรียนภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ให้ผู้ต้องขังที่รู้ภาษาต่างชาติเป็นผู้สอนผู้ต้องขังอีกที ดังนั้นการแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจ

ต่อมา นายสมศักดิ์ ได้ตอบกระทู้ของ นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.ที่ตั้งกระทู้เรื่องความคืบหน้าการจัดทำและเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยกล่าวชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเปราะบางจึงต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมรับทราบปัญหามาโดยตลอด แม้รัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มต่างๆ เช่น เด็ก สตรี คนพิการ แต่ปรากฏว่ายังมีช่องว่างของกฎหมายในการเลือกปฏิบัติในกลุ่มเปราะบางบางประเภท เช่น กลุ่มติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มเพศทางเลือก จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 21 ซึ่งภาคประชาสังคมได้มายื่นเรื่องเสนอกฎหมายต่อกระทรวงยุติธรรม และสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคมให้เข้ามาเสนอแนะปัญหา วัตถุประสงค์ หลักการและเหตุผล ตลอดจนเสนอกฎหมายฉบับภาคประชาชน โดยในการประชุมได้มีการเห็นชอบในหลักการ และเห็นควรให้ยกร่างกฎหมายฉบับภาครัฐ ก่อนที่จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติดัวกล่าว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา และดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยมีการจัดการประชุมเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และได้รวบรวมงานวิจัยตลอดจนคำร้องต่างๆ เพื่อประชุมในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมได้ขอจัดตั้งงบประมาณปี 2564 เพื่อดำเนินการยกร่างกฎหมาย แล้วไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะกำหนดห้ามมิให้การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ประกอบด้วย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สุขภาพ และการติดเชื้อเอสไอวี ซึ่งจะมีคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติ และอาจมีอนุกรรมการต่างๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ในด้านรายละเอียด เช่น การรับเรื่องร้องทุกข์การแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมาย แต่หากเกิดสถานการณ์การเลือกปฏิบัติขึ้นจะทำอย่างไร เรื่องนี้ในส่วนของกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มนั้นมีกฎหมายที่สามารถใช้ดำเนินการได้ แต่สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นที่อาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็สามารถดำเนินการได้ แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว แต่การออกกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลามากกว่ากฎหมายบางฉบับเพราะเกี่ยวพันกับบุคคลหลายภาคส่วนแต่ย้ำว่ากระทรวงยุติธรรมจะพยายามดำเนินการเร่งรัดตามที่สมาชิกวุฒิสภาสอบถามเข้ามาอย่างรัฐบาล และจะนำข้อสังเกตจากสมาชิกวุฒิสภาไปดำเนินการ ส่วนการบรรจุไปในแผนปฏิรูปนั้น ยังบรรจุไม่ได้ แต่ก็จะดำเนินการการปฏิรูปต่อไป

"ส่วนคำว่าสองมาตรฐานที่สมาชิกวุฒิสภากล่าวถึงหลายครั้งนั้นมองว่า ในบางครั้งรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว แต่บางครั้งประชาชนอาจจะไม่เข้าใจ อย่างในกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกจากเรือนจำ เพื่อร่วมงานศพของบิดา และเกิดการเปรียบเทียบถึงระบบสองมาตรฐาน เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ เพิ่งจะมาออกระเบียบเมื่อตอนที่ นายณัฐวุฒิ จะมาร่วมงานศพของบิดา จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่า เป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ได้ทำกฎกระทรวงไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจ และความไม่รู้ทำให้เกิดการวิจารณ์กันยาวนาน" นายสมศักดิ์ กล่าว...