สาธารณสุข จ่อ เสนอ ครม.4 ส.ค.นี้ แก้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อก ชาวบ้านปลูกกัญชา ใช้รักษาอาการป่วยและขายได้ ต่อยอด ภูมิปัญญาแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน

วันที่ 3 ส.ค. นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลง นโยบายต่อรัฐสภาโดยนโยบายเร่งด่วน ข้อ 4 ให้ความสำคัญในการต่อยอดภูมิปัญญา และความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านเพื่อสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึง ศึกษา วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคด้วยกัญชา ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ยังไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยของตน ส่งผลให้การรักษาด้วยภูมิปัญญาไทย ไม่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาเท่าที่ควร เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยสู่ระดับโลก

“ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ..." เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่จะถึงนี้ (4 สิงหาคม 2563) เพื่อผลักดันการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ป.ป.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แพทยสภา สภาการแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรม กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น” นพ.ไพศาล กล่าว

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งเน้นหลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูกและใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตนเองได้

...

2. ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาเพื่อให้ผู้ป่วยของตนได้ และ 3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรอีกครั้ง ผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถผลิตยากัญชาและส่งออกได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ ไม่ต้องนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณ ในการนำยาโดยใช้ยากัญชาทดแทนหรือใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้

"ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ผู้นำการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาอย่างทั่วถึง เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาไทย ให้เกษตรกรร่วมกับผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปลูกกัญชาเพื่อนำมาผลิตยา รวมถึงสามารถผลิตและส่งออกยากัญชาได้ เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข และการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน" เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวปิดท้าย