ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการตุลาการในศาลยุติธรรมที่มีข้าราชการตุลาการหญิงคนแรกขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดในตำแหน่งประธานศาลฎีกา อันเป็นหนึ่งใน 3 อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งกำหนดขึ้นมาในรูปแบบของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ตามมติ ก.ต.ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2498 หลังสิ้นปีงบประมาณ ทำให้อายุยังไม่ครบ 65 ปีบริบูรณ์ในวันสิ้นปีงบประมาณเหมือนข้าราชการตุลาการคนอื่นๆที่เกิดในปีเดียวกันและต้องพ้นจากสถานะฝ่ายบริหารไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสเป็นเวลา 5 ปีก่อนเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

ว่าที่ประธานศาลฎีกาเมทินี จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

เข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญๆในวงการตุลาการ อาทิ ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 3 เป็นตำแหน่งล่าสุดก่อนขึ้นประธานศาลฎีกา เป็นเวลา 1 ปี ก่อนไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสตามกติกา

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการตุลาการต้องบันทึกไว้ด้วยว่าตำแหน่งสำคัญลำดับที่ 2 ของวงการตุลาการคือ ประธานศาลอุทธรณ์ นั้น ในคราวเดียวกันนี้ก็มี ข้าราชการตุลาการหญิง ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยเช่นกันนั่นคือ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม โดยก้าวมาจากตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

...

ว่าที่ประธานศาลอุทธรณ์ปิยกุล เข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญๆ ในวงการตุลาการ อาทิ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดจันทบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดน่าน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดลำพูน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นตำแหน่งล่าสุดก่อนได้เป็นหมายเลข 2 ของวงการตุลาการ

ด้วยเหตุที่ ว่าที่ประธานฯปิยกุล เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2499 ทำให้มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาหญิงติดต่อกันเป็นรายที่สอง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และมีสิทธิดำรงตำแหน่งได้ 1 ปีก่อนไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในปี 2565

มิหนำซ้ำตำแหน่งหมายเลข 3 ของวงการตุลาการคือ รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 ในคราวนี้ก็มี ตุลาการหญิง เข้าดำรงตำแหน่งด้วยเช่นกันนั่นคือ นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เพียงแต่ว่าเกษียณอายุปีเดียวกับ ประธานเมทินี จึงต้องไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสพร้อมกันในปี 2564

ว่าที่รองประธานศาลฎีกาวาสนา เข้ารับราชการตำแหน่งสำคัญๆในวงการตุลาการ อาทิ ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรัง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

นี่คือสุภาพสตรีทั้งสามที่มีโอกาสเข้ามาบริหารศาลยุติธรรมยุคใหม่ในฐานะหญิงเหล็กของวงการ

แล้ววันพรุ่งนี้จะว่ากันในการขึ้นสู่ตำแหน่งอื่นๆของผู้ชายในศาลฎีกา.

“ซี.12”