“สกุลไกรฤกษ์” ถือเป็นตระกูลนักการเมืองเก่าแก่ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ถึงรุ่นพ่อ และส่งไม้ต่อมายังรุ่นลูก “จุติ ไกรฤกษ์” ผู้รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระนั้นอุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่นกลับไม่เคยผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทุกอย่างที่ทำต้องทำด้วยหัวใจ และมุ่งมั่นทำงานการเมืองเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

“จุติ ไกรฤกษ์” เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2499 เป็นบุตรชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของ “โกศล ไกรฤกษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของ “ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์” อดีต ส.ส.พิษณุโลก หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ จึงนับเป็นทายาททางการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูลไกรฤกษ์

ย้อนกลับไปเมื่อยังเด็ก ความเป็นลูกหลานนักการเมือง ทำให้ “จุติ” ถูกปลูกฝังบ่มเพาะความเป็นนักการเมืองตั้งแต่เยาว์วัย...“พ่อไม่บังคับ แต่ใช้วิธีพาไปเห็น และอธิบายให้ฟังถึงความแตกต่างของชีวิตคนเราที่เกิดมาไม่เหมือนกัน”

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นรากฐานสำคัญที่มีผลต่อการทำงานการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อต้องมาบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยิ่งตอกย้ำให้เขาเห็นคุณค่าในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน, ยากไร้ และผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยหนึ่งในผลงานที่สร้างความภูมิใจให้อย่างยิ่งคือ การเสนอกฎหมายให้เบี้ยผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2551 จนออกเป็นกฎหมายสำเร็จ ทำให้คนสูงวัยทุกคนได้เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการรับมือกับวิกฤติสังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคต โดยได้มีการเตรียมการเรื่องนี้มาแล้วกว่า 8 เดือน เปิดรับฟังความเห็นของกลุ่มต่างๆมาตลอด อีกภารกิจที่ทำแล้วฟิน ยังรวมถึงการทำแคมเปญบริจาคนมเด็กแรกเกิด ช่วยแม่และลูกเล็กที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

...

ผลจากวิกฤติโควิด-19 คาดว่าจะมีคนตกงานกว่า 8 ล้านคน ผลกระทบในมิติสังคมเลวร้ายขนาดไหน

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า “วิกฤติจากไวรัสโควิด-19” จะหนักกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ดังนั้นผลกระทบย่อมรุนแรงและกระจายในวงกว้างแน่นอน เมื่อคนตกงานจำนวนมาก ผลกระทบจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ถูกเลิกจ้าง แต่หมายถึงเงินที่เคยส่งเสียที่บ้านก็จะไม่มีไปด้วย บรรดาคนงานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯจะต้องเดินทางกลับบ้านเกิดมากขึ้น เพราะไม่มีงานทำ ภารกิจเร่งด่วนของ พม.คือ ต้องส่งเสริมงานในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อรองรับปรากฏการณ์เหล่านี้

เตรียมแผนช่วยคนตกงานจากไวรัสโควิด-19 ไว้อย่างไร

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะฟื้นตัวกลับมาได้ สภาพการทำงานของคนไทย จะเปลี่ยนไปชัดเจน แต่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีนโยบายฝึกทักษะ อาชีพเพิ่มเติมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน ขณะเดียวกัน ทาง พม.ก็ได้ประสานให้กรมต่างๆเร่งปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มการจัดอบรมฝึกอาชีพให้กลุ่มผู้เดือดร้อน รวมถึงการอบรมทางออนไลน์มากขึ้น สิ่งนี้เป็นพันธกิจของกระทรวงเรา ที่ต้องเตรียมพร้อมให้คนเหล่านี้มีความมั่นคงในชีวิต, มีอาชีพ และมีรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว

ภายใต้การทำงานของรัฐบาลนิวนอร์มอล พม.ปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ฉับไวยิ่งขึ้น

พม.มีเป้าหมายเดียวที่ชัดเจน คือช่วยกลุ่มเปราะบางที่เป็นเป้าหมายของกระทรวง ผมมองการช่วยเหลือคนเป็นหลัก ซึ่งต้องยอมรับว่า ด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนขั้นตอนที่มากมาย ทำให้การช่วยเหลือบางครั้งไม่ทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่คนใน พม.ต้องปรับตัว ผมมาจากประชาชน และเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าผมคอยการช่วยเหลือ 48 ชม. ถือว่ามีเหตุมีผล แต่บางครั้งชาวบ้านถูกลืมไปเลย ต้องรอถึง 1-3 เดือน สิ่งนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มอล ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ทุกอย่างจึงต้องฉับไวทันท่วงทีที่สุด

คำว่ากลุ่มเปราะบางหมายถึงใครบ้าง

มีทั้งผู้สูงอายุ, คนพิการ, คนไร้ที่พึ่ง, คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส แต่เราเปลี่ยน “การสงเคราะห์” ให้เป็น “สวัสดิการประชาชน” ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็วทันเวลา และมีคุณภาพ สิ่งสำคัญคือการเคารพประชาชน ต้องให้เกียรติพวกเขา ให้รู้สึกว่าพวกเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากผมเป็นชาวบ้านก็จะปลื้มใจมาก เราให้เขาด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เขียนไว้ แต่ลงมือทำจริงๆ

พม.ยุคใหม่ ทำงานเชิงรุกอย่างไรบ้าง

ผมวางนโยบายให้ทุกคนต้องทำงานให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ ต้องทลายข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้ และทำตามพันธกิจที่มีให้ได้มากที่สุด วันนี้เรามีหน่วยเฉพาะกิจทำงานเชิงรุก ย้ำให้ทุกคนเตรียม พร้อมอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกกรมผนึกกันลงพื้นที่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อพบปะช่วยคนให้ได้มากที่สุด ออกไปพบชุมชน, ออกไปช่วยเขา, เข้าให้ถึงเขา ผมก็ไปด้วยตลอด

ท่านนายกฯกำชับว่ายุคนี้ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน พม.ผนึกกำลังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางในสังคมอย่างไร

ตอนผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมคิดอยู่อย่างเดียวว่า กระทรวงนี้ทำงานคนเดียวไม่มีวันสำเร็จ แต่ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นๆเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลา และรวดเร็วขึ้น จึงไม่แปลกที่ พม.จะเป็นกระทรวงแรก ที่ทำเอ็มโอยูกับกระทรวงอื่นมากที่สุด สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่แค่ให้ “ถุงยังชีพ” แต่เน้นผนึกกับหน่วยงานต่างๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของกันและกัน ไปช่วยผู้ที่ประสบปัญหา ที่ชัดเจนที่สุดคือ การเซ็นเอ็มโอยูกับกระทรวงแรงงาน ช่วยฝึกอาชีพคนที่ตกงานและไร้บ้าน สำหรับหน่วยงานที่ไม่ได้เซ็นเอ็มโอยูก็ร่วมมือกันช่วยผู้ประสบปัญหาในแง่มุมต่างๆ ทำให้การช่วยเหลือครอบคลุม และมีมิติมากขึ้น ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ว่า ให้ช่วยกันดูแลประชาชนอย่าให้ลำบาก...ทำให้คนไทยดีขึ้นในทุกมิติ

ทำอย่างไรให้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐไปถึงคนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ

ตั้งแต่ช่วงแรกๆที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรารณรงค์เชิญชวนจิตอาสามาร่วมกันเย็บหน้ากากผ้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และล่าสุดได้ขับเคลื่อนเรื่องเงินเยียวยา 3,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ, เด็กแรกเกิด และคนพิการ รวมกว่า 13 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินในวันที่ 20 ก.ค.นี้

ไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมไทย ยิ่งกว้างขึ้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไร

การลดความเหลื่อมล้ำ ต้องใช้ทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” บวกกับการปรับตัว หลังไวรัสโควิด-19 นโยบายภาครัฐจะมุ่งส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติมให้ผู้ที่ตกงานจำนวนมาก โดยเน้นทักษะจำเป็นต่ออาชีพในอนาคต เช่น การเสริมทักษะให้ทันโลกออนไลน์ และการขายของออนไลน์ ตามรายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติระบุว่า คนยุคใหม่ต้องมีทักษะไม่น้อยกว่า 3 มิติ เพื่อสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้น การฝึกอาชีพต่างๆจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย และได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เกิดความมั่นคงในด้านอาชีพในระยะยาว “การเคหะแห่งชาติ” เป็นอีกกรมที่มีบทบาทมากในการช่วยผู้เดือดร้อนด้านที่พักอาศัย โดยล่าสุด ได้มีการจัดทำที่พักสำหรับคนหูหนวก 10 ครอบครัว ที่ย้ายจากใต้สะพานย่านพระราม 9 มาที่การเคหะฯ ลาดหลุมแก้ว 2 นอกจากนี้ ได้ทำโครงการบ้านเช่า 999 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าพักแล้วกว่า 3,000 ราย รวมทั้งพักชำระหนี้ 3 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระอันเนื่องมาจากโควิด-19 ผมได้มอบหมายให้การเคหะฯเตรียมทำโครงการสำคัญ คือสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย 100,000 หน่วย ภายในเวลา 5 ปี แบ่งเป็นปีละ 20,000 หน่วย เพื่อช่วยกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ทั้งหมดเป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการเคหะฯ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ตั้งเป้าหมายไว้ว่าทุกปีในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนสำคัญของคนไทย จะมีคน 20,000 ครอบครัว ได้เข้าอยู่บ้านหลังใหม่ ตรงนี้จะเป็นรากฐานให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์และสังคมไทย เหมือนชื่อของกระทรวงนั่นเอง

เมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว พม.เตรียมรับมือกับวิกฤติคนแก่ไม่ยอมแก่อย่างไร

เราต้องเตรียมทำโครงการรองรับสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ โดยขณะนี้คนไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 20% ขณะที่คิวรอเข้าบ้านพักคนชราบางแคยังมีอีกหลายพันคน ต้องดึงการเคหะแห่งชาติมาช่วยทำโครงการบ้านผู้สูงอายุ แบบ universal design สี่มุมเมืองกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างจังหวัด สำหรับกรณีเบี้ยผู้สูงอายุ ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ายังมีคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงๆรับเบี้ยผู้สูงอายุ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ถามว่าจะมีมาตรการให้คนเหล่านี้สละสิทธิเพื่อให้รัฐมีเงินมาช่วยคนจนเพิ่มขึ้นอย่างไร ต้องบอกว่าสิทธิการได้รับความช่วยเหลือเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน ซึ่งการสกรีนแต่ละคนว่ารวย หรือจน เป็นเรื่องค่อนข้างยากและซับซ้อน สิ่งที่กระทรวงทำจึงเป็นเชิงบวกมากกว่า โดยมีมาตรการขอบคุณและเชิดชูคุณความดีของผู้ที่ไม่ขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อแสดงความชื่นชมและเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นๆต่อไป.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ