"เศรษฐพงค์" แนะ กสทช.วางนโยบายรองรับกิจการในอนาคต ชี้อย่ามองแค่รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ แต่ต้องมองภาพรวม ที่ ปชช.จะได้ ห่วงประมูลความถี่ 3.5 GHz แนะเตรียมแผนให้พร้อม "ไตรรัตน์" แจง กสทช.เตรียมพร้อมประมูลปีหน้า พร้อมหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.63 ที่รัฐสภา พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับทราบรายงานผลปฏิบัติงาน กสทช.ประจำปี 2562 ว่า การดำเนินงานของ กสทช.มีผลต่อเนื่องไปยังอนาคตในบทสรุปที่ตนจะขอเน้น คือ การกำหนดนโยบายการบริหารคลื่นความถี่ให้เพียงพอ ต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการกิจการดาวเทียมเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ วันนี้ทาง กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่จะเข้าสู่กิจการอวกาศ ทาง กสทช.ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนากิจการอวกาศ โดยการสนับสนุนการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งตนคิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและควรดำเนินการต่อไป เนื่องจากกิจการอวกาศนั้นเป็นสิ่งใหม่ของโลก ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการเตรียมการเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งคนรุ่นใหม่จะต้องเตรียมบุคลากร รองรับอาชีพใหม่ๆ ดังนั้นตนคิดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจการอวกาศนั้น ทาง กสทช.ควรจะต้องมีการเตรียมงบประมาณ สนับสนุนการพัฒนา การวิจัย การสร้างสิ่งใหม่ๆ ในด้านอุตสาหกรรมใหม่นี้ ตนขอฝากทาง กสทช.ให้ช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ในปีต่อไปด้วย
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G การประมูลคลื่นความถี่ 5G ได้สำเร็จไปแล้ว ซึ่งพวกเราคงได้เห็นการประมูลสำเร็จแล้วก็จริง ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่มีรายได้มหาศาลเข้ารัฐ แต่ไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงความสำเร็จในการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. เพราะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ความสำเร็จของการบริหารที่แท้จริงนั้นคือ การสร้างโครงข่ายไปสู่ธุรกิจไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ที่แท้จริง ดังนั้น กสทช.ยังต้องติดตามผลการประมูลคลื่นความถี่ว่า มีการวางโครงข่ายในทุกคลื่นความถี่ ตนมีความห่วงใยเนื่องจากการประมูลที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจถึง 2 บริษัท ทั้ง CAT และ TOT ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองบริษัทได้ใบอนุญาตจาก กสทช.ด้วยการประมูล ดังนั้น กสทช.ควรติดตามอย่างใกล้ชิดในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะงานของรัฐวิสาหกิจอาจจะไม่มีความคล่องตัวเหมือนบริษัทเอกชน ที่ กสทช.เคยปฏิสัมพันธ์มาก่อนอย่างคลื่น 700 MHz ที่ CAT ได้ไปก็ยังไม่เห็นแผนงานที่ชัดเจน ตนจึงของฝากทาง กสทช.ช่วยทำให้ระบบนิเวศของคลื่นมีความเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์
...
"ในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ รัฐบาลมองถึงความสำคัญของรายได้จากการประมูล แต่ตามที่ผมได้พูดไปแล้วว่า ความสำเร็จนั้นจะต้องเป็นเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม คุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น กสทช.จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ และอยากให้เตรียมการ ศึกษาในภาพจริงเพราะระบบ C Band หรือย่านความถี่ 3.5 GHz กำลังจะหมดสัญญาในปี 2564 อยากให้ กสทช.เตรียมพร้อมว่าจะมีการประมูลอย่างไร และจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร นี่คือภารกิจของ กสทช.ที่สำคัญในการดำเนินการในปีต่อๆ ไป" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวชี้แจงว่า ขอขอบคุณในคำแนะนำต่อ กสทช. เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกี่ยวกับดาวเทียมคลื่น 3500 MHz ขณะนี้เราได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะ 5G ซึ่งมี 3 ข้อ ที่เราจะทำ คือ 1.ในด้านเทคนิค คือ การศึกษาคลื่น 3500 MHz จะเป็นการรบกวนกันระหว่างกิจการดาวเทียมกับกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ ต้องใช้การ์ดแบนด์เท่าไร ตรงนี้กำลังศึกษากันอยู่ 2.การเตรียมสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับจานดำ ที่มีผลต่อประชาชนจะมีทั้งหมดกี่ครัวเรือน และจะต้องมีการเยียวยาอย่างไร 3.การเตรียมการเรื่องการประมูลคลื่น 3500 MHz กำลังร่างหลักเกณฑ์และประกาศต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้คลื่นความถี่ คณะทำงานคาดว่าแผนดังกล่าวและผลการดำเนินงานจะเสนอ กสทช.ได้ภายในสิ้นปี และจะเริ่มประมูลได้ในปีหน้า