สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าเรื่องกะเหรี่ยงเอาไว้ว่า เป็นชนชาวเขาเผ่าหนึ่งของประเทศไทย อาศัยอยู่ตามทิวเขาถนนธงชัยและทิวเขาตะนาวศรี พรมแดนระหว่างไทย-พม่า มีอยู่ในเชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
ชาวกะเหรี่ยงในไทยส่วนนี้ เป็นส่วนน้อยของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ในประเทศพม่า
ผู้รู้บางท่าน พบชาวเขาเผ่าหนึ่ง ในแคว้น สิบสองพันนา เชียงตุง หลวงพระบาง และในลุ่มแม่น้ำโขงของลาว อยู่ในกลุ่มพวกข่า เรียกว่าข่าเรียง เป็นชนชาติในตระกูลภาษามอญ เขมร เข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่ชื่อเรียกเพี้ยนเป็นกะเหรี่ยง
บันทึกเรื่องกะเหรี่ยงของนายพูน สินธุเสก ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เล่าถึงชีวิตรักของหนุ่มสาวกะเหรี่ยงว่า หญิงอายุ 15 ลงมา ถือว่าเป็นเด็ก ใครจะไปเกี้ยวหรือยุ่งทางชู้สาวไม่ได้ สู่ขอก็ไม่ได้
ใครไปถูกเนื้อต้องตัวต้องเสียค่าปรับ เด็กสาววัยนี้สวมเสื้อยาวตัวเดียว ไม่นุ่งซิ่น อายุเลย 15 ปีไปแล้ว ถือว่าเป็นสาว เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวใหม่ นุ่งซินกรอมเท้าสวมเสื้อยาว
ตอนนี้แหละเป็นสาวพอจะเลือกคู่ได้เอง
โดยปกติการเป็นผัวเมียกัน ไม่ต้องมีการสู่ขอ และเรียกสินสอดทองหมั้น หนุ่มสาวเลือกหาคู่ครองได้ตามสมัครใจ เมื่อรักใคร่กัน ฝ่ายชายก็ถือโอกาสไปหากันได้เวลาค่ำคืน เรียกว่าย่องสาว
แต่ถ้ายังไม่รู้จักมักคุ้นกันจริง และสาวยังไม่เออออด้วย ฝ่ายหญิงก็จะต้องจุดไฟ แสงไฟแสดงให้หนุ่มรู้ว่า ...ยังไม่รัก
ในกรณีที่ผูกสมัครรักใคร่กันแล้ว จนถึงขั้นจะตกลงเป็นคู่ครองกัน ฝ่ายหญิงจึงยอมให้นอนค้างอ้างแรมได้ เมื่อใกล้สว่างฝ่ายชายจะต้องรีบลงเรือนไป
จากนั้นฝ่ายหญิงจะกระซิบให้พ่อแม่ฝ่ายตน คอยดักจับเมื่อฝ่ายชายมานอนค้างอีก
เมื่อฝ่ายชายถูกจับได้ เรียกว่าถูกจับคาห้อง ฝ่ายชายจะต้องบอกให้พ่อแม่ฝ่ายตนมารับรู้และผูกมัดข้อมือ เป็นการนัดแต่งงาน ถ้าฝ่ายชายผิดสัญญา จะถูกลงโทษทาง “สังคมอนุมัติ” คือจะถูกพวกชาวบ้านเกลียดชัง ไม่คบค้าด้วย และทั้งยังต้องหนีไปอยู่ที่อื่น
ถ้าจะอยู่ต่อไป ก็ต้องเสียค่าปรับไหม ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ในกรณีที่ผู้ชายยอมรับ จะต้องจัดหาเครื่องแต่งงาน มีน้ำ 1 ขัน เงิน 2 สลึง ดอกไม้ และด้ายสำหรับผูกมัดข้อมือ
เมื่อไปถึงบ้านฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะจัดให้ฝ่ายชายไหว้ผีเรือน แล้วนำหญิงมาผูกมัดข้อมือ ผู้ใหญ่หรือแขกสูงอายุประพรมน้ำมนต์ให้คู่บ่าวสาว เสร็จแล้วเอาเงิน 1 สลึง ทิ้งลงในน้ำ อีกสลึงขว้างทิ้งบนดิน เป็นอันเสร็จพิธี
รู้จักกะเหรี่ยงบ้างแล้ว ก็ควรรู้จักกะหร่าง ทั้งกะเหรี่ยง กะหร่าง รูปร่างหน้าตา เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือน ภาษา และประเพณีคล้ายคลึงกันมาก จะมีแตกต่างแต่ส่วนที่เป็นปลีกย่อย
ตามตำนานว่า ชายกะเหรี่ยงคนหนึ่ง เป็นชู้กับหญิงกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเมียผู้อื่น ตามประเพณีกะเหรี่ยงถือว่าผิดศีลธรรมร้ายแรง ต่อมาชายหญิงคู่นี้มีลูกเต้าด้วยกันหลายคน แล้วเลิกร้าง แบ่งลูกและแยกทางกันไป
ฝ่ายภรรยาเป็นต้นตระกูลกะเหรี่ยง ฝ่ายสามีเป็นต้นตระกูลกะหร่าง
ถือตามตำนานนี้ กะเหรี่ยงกะหร่างเป็นพวกเดียวกัน แต่ห่างเหินกันมานาน จึงกลายเป็นคนละพวกไป กะหร่างเรียกตัวเองว่า ปั้กยอ กะเหรี่ยงเรียกตัวเองว่า กะโพลง
การแต่งกายจะทราบได้ว่าเป็นกะเหรี่ยงหรือกะหร่าง ให้ดูที่เสื้อ ถ้าเป็นกะเหรี่ยงเสื้อสั้นแค่เอว ถ้าเป็นกะหร่างจะปล่อยชายเสื้อยาวจนถึงครึ่งขาเหนือเข่า
กะหร่างส่วนมาก ตั้งบ้านอยู่ตามที่ราบเชิงเขา ใกล้ลำน้ำลำธารใหญ่ และมักตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีอาชีพทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เหตุนี้จึงมีบางคน เรียกกะหร่างว่า กะเหรี่ยงบ้าน
ว่ากันโดยนิสัย กะหร่างมีความขยันขันแข็งดีกว่ากะเหรี่ยง แต่ชอบกินเหล้า ฝึกกันมาแต่เด็ก
ผิดกับกะเหรี่ยง ซึ่งแต่เดิมไม่ชอบกินเหล้า ใครนำเข้าไปในบ้าน ถือว่าผิดผี
ทั้งกะเหรี่ยง กะหร่าง ที่เคยสังสรรค์กับคนไทย มักส่งลูกหลานเรียนหนังสือไทย ในระยะหลัง เด็กกะเหรี่ยง เด็กกะหร่างรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่งตัวเป็นคนไทยกันหมด ผู้ใหญ่ก็เลิกไว้ผมยาว จะคงรักษาประเพณีเดิม ก็มีแต่คนรุ่นเก่า
กะหร่างกลุ่มใหญ่ ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ ฮ.กองทัพบกตกสองลำ ที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เรียกตัวเองว่าไทยตะนาวศรี.
...
บาราย