“องคมนตรี” ลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามโครงการบรรเทาอุทกภัย คาด แล้วเสร็จปลายปี 63 ชี้ ระบายน้ำหลาก แก้น้ำท่วมปล่อยลงสู่ทะเลอ่าวไทย ได้อย่างรวดเร็ว ลดปัญหาน้ำท่วมได้ตามพระราชประสงค์ 

วันที่ 2 ก.ค.63 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคกลาง และ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี

โอกาสนี้ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า เพชรบุรี มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการตามพระราชประสงค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมแล้วกว่า 103 แห่ง เกือบจะมากที่สุดในประเทศไทย พระองค์พระราชทานแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้กับจังหวัดนี้ ตั้งแต่น้ำแล้งและน้ำท่วม ตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่งปี 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายในการดำเนินการตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

...

“ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนในโครงการพระราชดำริ และพล.อ.อ.จอม ได้ร่วมลงพื้นที่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยดี คาดหวังว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2563 นี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มักจะเกิดพายุในทุกๆ ปี ก็นับเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ที่พระองค์พระราชทานไว้” พล.อ.อ.ชลิต

ด้านนายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. เผยว่าที่ผ่านมาช่วงฝนตกในพื้นที่จะมีปริมาณน้ำมาก แม้ทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรีจะมีเขื่อนใหญ่ๆ อยู่ 2 เขื่อนเพื่อรองรับน้ำอยู่แล้วก็ตาม แต่ไม่เพียงพอในการรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ น้ำยังไหลลงมาเพื่อออกทะเลอ่าวไทย พื้นที่บริเวณเส้นทางการไหลของน้ำจึงเกิดน้ำหลากน้ำท่วม เช่น ที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มักจะได้รับภัยจากปริมาณน้ำจำนวนมากเหล่านี้ในทุกปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงปี 2547 จำนวน 5 ครั้ง สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมสนองพระราชดำริ เมื่อปี 2548 - 2551 โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 52 ล้านบาท และการประสานงานการดำเนินงาน ในการขุดลอกคลอง D1 D9 และ D18 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรีได้เป็นอย่างดียิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานในขณะนี้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมีความคืบหน้าไปประมาณร้อยละ 90
“วันนี้ที่ท่านองคมนตรีทั้งสองท่านได้กรุณามาเยี่ยม และติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ คิดว่าภายในปีงบประมาณ 2563 ถึง 2564 โครงการหลักๆ ก็น่าจะสำเร็จลุล่วงและสามารถป้องกันอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตามพระราชประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ต่อไปได้” นายดนุชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนี้ องคมนตรี และคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปการติดตาม และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง จากผู้แทนสำนักงาน กปร. ซึ่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเขตพื้นที่ภาคกลาง จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ และจากการติดตามของคณะอนุกรรมการฯ ที่ผ่านมา สามารถขับเคลื่อนโครงการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณแล้ว จำนวน 9 โครงการ ส่วนอีก 5 โครงการ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบและกฎหมายให้มีความถูกต้องชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุด ต่อประชาชนและประเทศชาติ และช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะได้ลงพื้นที่ชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานบริเวณคลอง D9 จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย จุดที่ 1 บริเวณประตูระบายน้ำปลายคลอง D9 บริเวณ ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดระบายน้ำลงสู่ทะเล จุดที่ 2 บริเวณ จุดตัดคลอง D9 กับทางรถไฟ ตำบลหนองจอก โดยความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและการรถไฟแห่งประเทศไทย และจุดที่ 3 บริเวณแนวการคลอง D9 ในที่ชุมชนบ้านกระจิว ต.ท่ายาง ซึ่งเป็นพื้นที่ประชาชน และชุมชนมีความเข้มแข็งให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ เป็นอย่างดี

สำหรับความก้าวหน้าในโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี นั้น ปัจจุบันกรมชลประทานได้พิจารณาแผนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 เพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D9 โดยปรับปรุงขยายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และ อาคารประกอบในคลองต่างๆ ระยะทาง 8 กิโลเมตร และขุดขยายคลอง D9 ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มอัตราการระบายจากเดิม 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแนวทางที่ 2 เพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D1 โดยปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 และขุดคลองระบายน้ำเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ไปคลองระบายน้ำ D1 เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ตรงบริเวณเหนือเขื่อนเพชร ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงอาคารประกอบในคลองต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขุดคลองระบายน้ำ D1 ความยาว 3.40 กิโลเมตร ออกสู่ทะเลอ่าวไทย อัตราการระบายน้ำ 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งขุดคลองเชื่อมต่อคลองโรงปูน เพื่อผันน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่บริเวณตำบลชะอำ อำเภอชะอำ โดยมีอัตราการระบายน้ำ 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ การก่อสร้างคลองระบายน้ำ D1 อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการจัดหาที่ดิน และเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้างต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดทำแผนงานเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2562 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้สามารถดำเนินการเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการได้ ซึ่งกรมชลประทานจะเริ่มดำเนินการออกแบบรายละเอียด และขออนุมัติเปิดโครงการ คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อขออนุมัติเปิดโครงการ ในช่วงปลายปี 2563 นี้ ซึ่งหากโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ให้แก่ราษฎรจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี.