เกษม ศุภรานนท์ ส.ส.โคราช พรรค พปชร. เสนอรัฐบาล ของบฯ ดูแลการศึกษาในชนบท-โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ชี้ ยังขาดคุณภาพ และหนุนปรับโครงสร้างกระทรวงที่ซ้ำซ้อน

วันที่ 1 ก.ค. นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 ว่าโดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 350,000 ล้านบาท โดยเน้นไปที่ สพฐ. วงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้กับเด็ก เพื่อฟูมฟักให้เติบโตมาเป็นคนดีในสังคม

ทั้งนี้ ตนมีโอกาสเข้าไปต้อนรับคณะผู้บริหารคณะครู ชมรมอนุบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ที่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดภาคเรียน และเห็นว่า สามารถบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ให้ดำเนินการเว้นระยะห่างทางสังคมได้เป็นอย่างดี แบ่งวิธีการเรียนการสอนโดยแบ่งครึ่งหนึ่งเรียนที่บ้าน และอีกครึ่งหนึ่งเข้าเรียนที่โรงเรียน โดยได้ทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี

นายเกษม ยังอภิปรายว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตราที่ 54 ได้ระบุเรื่องการเรียนการสอนไว้ชัดเจนว่า รัฐต้องดำเนินการเรียนการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา พัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม การเรียนการสอนต้องมีคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนของประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องบริหารจัดการให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและทั่วถึง ทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียน

...

นายเกษม กล่าวว่า เหตุผลที่เน้นในเรื่อง สพฐ. เนื่องจากมีความเป็นห่วงต่อเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบท หากสามารถพัฒนาเด็กในชนบทให้มีคุณภาพและความพร้อม จะเป็นการพัฒนาประเทศไปในตัว ดังที่กล่าวเสมอว่า บวร วัด บ้าน โรงเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะทำอย่างไรให้เด็กในชนบทได้มีโอกาสทางการศึกษา ให้มีความพร้อมและความสุขในการเรียนการสอน โดยมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกล

พร้อมกันนี้ ยังเสนอแนวทางการแก้ไข โดยให้กระจายไปสู่เมือง ไปสู่อำเภอ ให้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ หากในอำเภอมีโรงเรียนที่มีคุณภาพตามนโยบายของรัฐ จะช่วยลดการเดินทางเข้ามาเรียนในเมืองได้ และที่สำคัญถ้ากระจายไปสู่ระดับตำบลได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนในอำเภอหรือจังหวัด แต่หากสามารถลงไปถึงระดับหมู่บ้านได้ ก็จะมีคุณภาพมากขึ้น โดยมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้

นอกจากนี้ยังมองว่า โครงสร้างทางการศึกษามีโครงสร้างที่ซ้ำซ้อน มีผู้บังคับบัญชามาก ส่งผลให้การบริหารในอำเภอและจังหวัดไม่คล่องตัว จึงอยากเรียนฝากไปยังรัฐมนตรี จะมีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะหากสามารถปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียว การศึกษาในประเทศไทยจะไปได้ไกลมากขึ้น จึงเรียนประธานและรัฐมนตรีว่า การศึกษาของไทยหากสามารถที่จะประสานงานและเรียนรู้แก้ปัญหาโครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จะมีความสุขมากขึ้น

นายเกษม ยังอภิปรายถึง งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กอนุบาล และเด็กประถม โดยขอให้พิจารณาว่า เป็นจำนวนเงินที่น้อยไปหรือไม่ สำหรับวางรากฐาน ดังนั้นหากมีการปรับงบประมาณอย่างเพียงพอ จะทำให้การเรียนการสอนหรือกระบวนการในการศึกษาเป็นไปได้ด้วยดี

"ส่วนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยหลังจบชั้นประถมศึกษาที่ 6 จะต้องเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต่อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินจะเรียนต่อในตัวเมือง มีครูไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ ห้องเรียนพิเศษต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งโรงเรียนขยายโอกาสมีปัญหามาก ดังนั้นจึงขอฝากไปยังรัฐบาลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทั้งเรื่องงบประมาณสำหรับการศึกษาในชนบท โครงสร้างกระทรวงที่ซ้ำซ้อน และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่ยังขาดคุณภาพ" นายเกษม กล่าว...