“จุรินทร์” ประชุม คกก.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน เห็นชอบหลักการจ่ายอุดหนุนแรกเกิดถึง 6 ขวบ แบบถ้วนหน้า 600 บาทต่อเดือน ช่วยคนยากจนเข้าถึงสวัสดิการ สั่ง พม. ศึกษาความเป็นไปได้ก่อนเสนอ ครม.

วันที่ 2 ก.ค. 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่ง นายจุรินทร์ มีข้อกังวลถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก เพราะรายจ่ายในครอบครัวมีเพิ่มขึ้นจากเหตุศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กและโรงเรียนปิด มีค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัสและผู้ปกครองมีรายได้ลดลง/ขาดรายได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลต่อการดูแลเด็กให้ได้รับอาหารและการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม
 
ในส่วนวาระสำคัญ ที่ประชุมเห็นชอบหลักการการให้เงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน เด็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป จากที่ปัจจุบันให้เงินอุดหนุนแก่เด็กเฉพาะครอบครัวที่มีฐานรายได้เฉลี่ยของสมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี การเสนอให้จ่ายแบบถ้วนหน้านี้เพื่อแก้ปัญหาการตกหล่นของเด็กจากครอบครัวยากจนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ ที่มีสูงถึง 30% ด้วยเหตุเพราะกระบวนการคัดเลือกมีความยุ่งยาก การตัดสินใจว่าใครจน ไม่จน โดยเจ้าหน้าที่ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิ อีกทั้งพบว่าคนที่ยิ่งจนกลับเป็นผู้ที่ไม่ได้สมัคร บางคนคิดว่าตนเองไม่มีสิทธิ์ บางคนเตรียมเอกสารไม่ครบ

...

สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนแรกเกิดแบบถ้วนหน้า จะสามารถดูแลเด็กวัย 0-6 ปี จำนวน 4.1 ล้านคน ในปี 2565 เพิ่มจาก 1.99 ล้านคน ที่จ่ายแบบปัจจุบันด้วยเกณฑ์รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้ จำนวนเด็กจะค่อยๆ ลดลงเนื่องจากเด็กเกิดน้อยลง ทำให้มีที่ต้องจ่ายแบบถ้วนหน้าประมาณ 3.8 ล้านคน ในปี 2570

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และทำแผนการดำเนินงาน/งบประมาณกลับมาเสนอ กดยช. อีกครั้งก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
 
“รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าการให้เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้าจะเป็นหลักประกันรายได้ เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กในประเทศไทยจะสามารถหาสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารและการเดินทางไปสถานพยาบาล รวมถึงเป็นการรองรับครอบครัวคนจนใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19”