"อนุดิษฐ์" จวกยับ งบฯ 64 เอื้อ รัฐข้าราชการ สวนกระแสโลก ซัดเละ ทำงบฯซ้ำซ้อน ไม่ก่อเกิดรายได้ ชี้ไทยเสี่ยงเป็นรัฐล้มละลาย กู้เงินอนาคตใช้หนี้ร่วม 100 ปี ตั้งฉายา "บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้"

วันที่ 1 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวอภิปรายว่า ตนได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่น่าห่วงใย และกังวลมากเท่าครั้งนี้ เนื่องจากข้อห่วงใยแรก คือ โครงสร้างของงบประมาณที่รายจ่ายไว้เป็น จำนวน ไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท แบ่งออกได้เป็น 3 รายการใหญ่ๆ คือ 1. รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5 2.รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.5 และ 3.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กัน หากการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามประมาณการ แต่หากการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ จะไม่มีเงินเหลือที่จะพัฒนาปรับปรุง หรือลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ใดของชาติเลย ยกเว้นจะต้องไปกู้มาเพิ่ม ซึ่งตนเชื่อว่า ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าที่ตั้ง ขณะที่รายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ ปี 64 นี้ขึ้นเป็น 2.526 ล้านล้านบาท เฉลี่ยโตขึ้น 2.22 เท่า ในขณะที่รายจ่ายลงทุนปี 6.74 แสนล้านบาท หรือโตขึ้นแค่ 1.8 เท่า เพราะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจได้สร้างรัฐราชการเป็นใหญ่ จึงทำให้มีรายจ่ายประจำสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ยกตัวอย่าง กองทัพไทยมีหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงภารกิจด้านการป้องกันประเทศที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นการก่อการร้าย การรบกันด้วยกำลังพลที่มากเหมือนสมัยสงครามโลกจะไม่มีอีกแล้ว การที่มีกำลังพลมากเกินความจำเป็นเป็นภาระต่องบประมาณประเทศ และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ภารกิจแรกที่รัฐบาลจะต้องทำคือ การลดจำนวนข้าราชการลง เพื่อลดรายจ่ายประจำที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้มากที่สุด และทำให้กลายเป็นรัฐของประชาชน จะสามารถทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นและนำเงินนั้นมาพัฒนาประเทศต่อไป แต่กลับตรงกันข้าม แทนที่จะลดกำลังพลที่ไม่จำเป็น แต่กลับให้มีวันเวลาทวีคูณกับทหาร ตำรวจตำแหน่งนายพลทั่วประเทศ หรือการให้สองขั้นกับพวกที่มาช่วยงาน คสช. เป็นงบประมาณเกือบแสนล้านบาท” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

...

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังจะเสียฐานภาษีสำคัญ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้มีกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก รวมเป็นร้อยละ 15 ของ GDP ของประเทศ แต่เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาหลายบริษัทกำลังจะปิดตัวในประเทศไทย และย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนถูกกว่า ถามว่ารัฐบาลได้เตรียมฐานการผลิตภาษีใหม่มาแทนหรือยัง เพราะหากยัง ปีหน้าจะกลายเป็นหายนะอีกเช่นกัน ขณะเดียวกันตนพิจารณางบประมาณที่เพิ่มขึ้น อาทิ งบกลางเพื่อแก้ไวรัสโควิด 40,325 ล้านบาท ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.ก.กู้เงิน และไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่จะนำมาซึ่งภาษี. หรืองบฯกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น 21,075 ล้านบาทที่เป็นรายการใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้และดอกเบี้ย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการผลิตใหม่ที่สร้างรายได้ใดๆ, กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้งบฯเพิ่มขึ้น 16,687 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกรองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมืองได้งบฯเพิ่มขึ้น 12,773 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นคือ การสร้างถนน ซึ่งเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า ที่ไม่ตอบโจทย์ของโลกภายหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่จะเปลี่ยนไป และอุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะมีความสำคัญและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เป็นต้น

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย รัฐบาลกู้เองโดยตรง และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งสิ้นรวม 6.98 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี จึงน่าเป็นห่วงว่า ถ้าการประมาณการรายได้ผิด และไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า นั่นหมายความปีงบประมาณต่อไป ไทยจะเหลือให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพีจะเต็มเพดาน และจะไม่สามารถกู้เงินมาพัฒนาเศรษฐกิจได้อีก ซึ่งจากสถิติก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้จัดเก็บรายได้ต่ำไว้กว่าที่ประเมินมา 6 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2557 ถึงตอนนี้ แปลว่า ประชาชนขาดกำลังซื้อ จึงทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่การยึดอำนาจ เฉลี่ยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 รวม 5 ปีชำระหนี้เงิน ต้นไปจำนวน 220,875 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณปีละ 44,000 ล้านบาท หากรวมหนี้ที่กู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.791 ล้านล้านบาท จะต้องใช้เวลาชำระคืนถึง 64 ปียังไม่นับรวมหนี้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.1 ล้านล้านบาท หรือหนี้ที่จะต้องกู้ในปีงบประมาณ 2565 ถ้ายังสามารถกู้ได้ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเกือบ 100 ปีจึงจะชำระหมด ตอนนี้รัฐบาลจะก่อหนี้ได้ไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาทที่เป็นยอดเต็มเพดานการก่อหนี้ เมื่อรวมเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน และที่ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จึงเหลือวงเงินที่จะก่อนหนี้ได้ภายในปี 2564 อีกประมาณ 750,000 ล้านบาท และหากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงจนกู้เงินไม่ได้อีก

“ดังนั้นวันนี้นายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นผู้นำของไทยที่กลายเป็น 'บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้' ซึ่งหากอนาคตหนี้เต็มเพดานและรัฐบาลก่อหนี้ไม่ได้อีกจะเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศ ตอนนี้ประชาชนไม่มีรายได้แต่หนี้สูง โจทย์คือรัฐบาลจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้อย่างไร การเยียวยาที่จะจบในเดือนนี้ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก ตัวเลขคนตกงานจะพุ่งนี้เป็น 7-10 ล้านคน รัฐบาลได้เตรียมอะไรไว้แล้วบ้างนอกจากการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สิ่งที่น่าผิดหวังคือการจัดทำงบประมาณในปีนี้กลับไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความจำเป็นตอนนี้ แถมยังมีข้อมูลหลายส่วนที่ส่อไปในทางทุจริต ฮั๊วประมูล ล็อกสเปก รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายงบประมาณให้กลุ่มทุน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว