เป็นไปตามคาด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และมาพร้อมกับความเซอร์ไพรส์ เมื่อมีชื่อ “ดร.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ แทนสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอย่างหนักหน่วงในเวลานี้ถึงความเหมาะสม หากเปรียบเทียบเป็นเกมบอล “ดร.แหม่ม” จะสามารถทำหน้าที่ศูนย์หน้าทีมเศรษฐกิจได้หรือไม่?

  • ปัจจุบัน นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อายุ 46 ปี นั่งเก้าอี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ, บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ประยุกต์) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

  • เคยเป็นอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน จากนั้นมาช่วยงานกระทรวงการคลัง ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คิดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในสมัยอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นขุนคลัง ก่อนลาออกลงสู่สนามการเมือง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรคพลังประชารัฐ และได้รับการเลือกตั้ง

...

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า เมื่อมีชื่อของ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้สะท้อนภาพหลายอย่างว่าการหาบุคคลมานั่งทีมเศรษฐกิจคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ และประธานสมาคมธนาคารไทย ไม่ตอบตกลงในการมาทำหน้าที่ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจยืดเยื้อมายาวนาน และมาเจอวิกฤติโควิด ทำให้คนจะเข้ามาทำงานอาจเสียผู้เสียคนได้

หรือมองอีกมุมเป็นการหักดิบแก๊ง 4 กุมาร ไม่ให้เหลือพื้นที่ในพรรคพลังประชารัฐ และอาจมีคนตอบรับเข้ามาทำหน้าที่แทนสมคิดก็ได้ หรืออาจไม่มีใครเลย จึงต้องให้ ดร.นฤมล มาทำหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ฝีไม้ลายมือยังไม่ถึงขนาดนั้น แม้เคยอยู่ในแวดวงทางวิชาการมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ แต่งานด้านเศรษฐกิจต้องมีประสบการณ์ ต้องอาศัยเครือข่ายในแวดวงและภาคส่วนต่างๆ ทางเศรษฐกิจ อย่างกรณีสมคิด ก่อนเข้ามาสู่การเมืองเมื่อ 10-20 ปี ยังไม่เคยมีประสบการณ์เช่นกัน

“หากเปรียบเป็นเกมบอล อาจจะเร็วไปที่ ดร.นฤมล จะมานั่งกองหน้าตัวจริง แต่อาจให้มาเป็นมือประสานงานเชิญผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่ หากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีหน้าที่แค่เชิญบุคคลเข้ามา ก็จะส่งผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และส่งผลกระทบในทางการเมือง ทางที่ดีที่สุดต้องหาคนที่มีประสบการณ์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาทำหน้าที่ สามารถทำนโยบายให้สามารถปฏิบัติได้จริงให้ได้ คิดว่า ดร.นฤมล เป็นกองหลังน่าจะดีกว่าในการประสานงาน อีกทั้งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง แม้จะเป็นโฆษกรัฐบาล ก็ยังไม่ใช่ตัวจริงมานั่งแถวหน้า เพราะเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหายืดเยื้อ และมาเจอวิกฤติโควิด ยิ่งยากมาก”

สำหรับบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และที่ผ่านมาสมคิด มีสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนญี่ปุ่น เมื่อสมคิดไม่อยู่ จะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลในเรื่องนโยบาย จะมีการสานต่อหรือไม่ และย้อนไปเมื่อปี 2540 มีการจัดตั้งรัฐบาล ทางนักลงทุนได้ถามว่าใครจะมาเป็นขุนคลัง ใครเป็นทีมเศรษฐกิจ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะต้องถามอีกใครเป็นทีมเศรษฐกิจ ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกับนักธุรกิจต่างๆ ดังนั้นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่เก้าอี้หรือสมบัติผลัดกันชม แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครตอบรับจะมาทำหน้าที่

ในส่วนการปรับ ครม.ไม่น่าเกินสิ้นเดือน ก.ค. มีการปรับ ครม.อย่างน้อย 6-7 ตำแหน่ง หากไม่มีคนตอบรับในการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คงให้ ดร.นฤมล ทำหน้าที่ ภายหลังค่อนข้างชัดเจนว่าสมคิด ไม่ได้นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอีกต่อไป โดยการปรับ ครม.อาจตอบสนองคนในรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นรอง แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ ตราบใดที่บุคคลต่างๆ ยังไม่ตอบรับ อาจเป็นไปได้ว่ายังไม่ลงตัว จึงตั้ง ดร.นฤมล ไปก่อน หรืออาจเป็นการโยนหินถามทางก็อาจเป็นไปได้ เพราะขณะนี้เสียงตอบรับไม่ดี และที่ผ่านมา ดร.นฤมล ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก

“คนมองเรื่องหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคม การจะเอาคนหน้าใหม่มาทำหน้าที่ไปก่อน หรือเอามาขัดตาทัพ ยิ่งทำให้ภาพรัฐบาลถูกมองในเชิงลบ กระทบความเชื่อมั่น หากได้ใครมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจควรออกมาเปิดเผย แต่คิดว่าตอนนี้คงหาใครไม่ได้ และไม่มีใครกล้ามาทำหน้าที่ เพราะกลัวเจ็บตัว เป็นเป้าโจมตี”

ส่วนภาพอนาคตของพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีเสียงตอบรับในเชิงบวก ส่วนการตอบรับจะยั่งยืนหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ หากการปรับ ครม.ไม่ลงตัวจะทำให้พรรคพลังประชารัฐเกิดความไม่สงบอีกครั้ง เนื่องจากเป็นพรรคที่มีโครงสร้างการรวมกลุ่มของแต่ละกลุ่ม การจะให้สงบนิ่งคงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพลังประชารัฐยังทำงานการเมืองล้าหลัง ไม่มองการเมืองในมิติใหม่ ไม่เคยทำการเมืองแบบเพศสภาพ หรือให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ให้สอดรับกับการเมืองในยุคผันผวน

“หากพลังประชารัฐไม่เปลี่ยนแปลงจะอยู่ได้ยาก และการที่ พล.อ.ประวิตร จะลงมาทำงานเองคงไม่ได้ ต้องอาศัยรองหัวหน้าพรรคลงมาช่วย คงไม่ทำให้สถานการณ์พรรคสงบอย่างยั่งยืนได้ แม้จะเปลี่ยนโลโก้พรรคก็ตาม หากยังเล่นการเมืองแบบล้าหลัง มีการต่อรองของก๊วนต่างๆ ในพรรค ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคทันสมัย หรือดีขึ้นกว่าเดิมเลย”.