หลายคนอาจจะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศชัยชนะโควิด-19 ด้วยการออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ รวมการเฉพาะกิจ ประกาศว่า “เริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์” การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ลดลงไป อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่บางคนอาจมองว่าเป็นการประกาศวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศตามแนวทางประชาธิปไตย
ฟังดูคล้ายกับว่านายกรัฐมนตรี “ดวงตาเห็นธรรม” ค้นพบความพิเศษของความเป็นไทย 2 เรื่อง คือได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย และพบว่า ประเทศไทยมีคนเก่งเยอะมาก จึงขอประกาศว่าต่อไปนี้ รัฐบาลจะทำงานด้วยการผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศ และจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
เหตุที่มองว่า นายกรัฐมนตรี “ดวงตาเห็นธรรม” ก็เพราะว่าเรื่องที่กล่าวถึง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการบริหารประเทศ หรือการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน แสดงว่าหลายเดือนที่ทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในการแก้วิกฤติโควิด-19 นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจในปรัชญาของประชาธิปไตยลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ตรงกันข้ามกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมาตลอดระยะเวลา 6 ปี นับตั้งแต่การยึดอำนาจและการปกครองประเทศ ของรัฐบาล คสช. วิจารณ์ว่า 6 ปีที่ล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งๆ ที่รัฐบาล คสช.ได้ให้สัญญาไว้ในรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ได้แก่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ คสช.ประกาศใช้เอง สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศใน 11 ด้าน ทั้งด้านการเมือง การศึกษา การเศรษฐกิจ ฯลฯ ฉบับที่สองคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติบังคับให้ปฏิรูปอย่างน้อย 6 ด้าน เช่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน แต่ 6 ปีผ่านไปยังไม่มีการปฏิรูปแม้แต่อย่างเดียว
...
คสช.อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ของบ้านเมือง และสร้างความสามัคคีในประเทศ แต่ยังไม่มีอะไรที่สำเร็จ และน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะการยึดอำนาจล้มระบอบประชาธิปไตย ก่อความขัดแย้งแตกแยก และ คสช.เป็นผู้ขัดแย้งเสียเอง
ถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรีสัญญาว่า รัฐบาลจะทำงานแบบนิวนอร์มอลรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แสดงว่ายึดถือแนวทางประชาธิปไตย จึงเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่เร็วก็ช้า แต่ต้องทำใจว่าทุกอย่างย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต้องมีขันติ รับฟังความเห็นต่าง.