ซูเปอร์โพล เผยชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่แย่ลง ซัดบ้านเมืองวุ่นวายเพราะการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี ทำคนหนุนรัฐบาลลดลงเล็กน้อย

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แนวโน้มจุดยืนการเมืองประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 3,087 ตัวอย่าง โดยเมื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า 1 ปี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ระบุชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง และร้อยละ 31.5 ระบุแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุดีเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่ระบุว่า ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ในขณะที่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง แต่สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น ผลสำรวจพบสาเหตุที่ทำบ้านเมืองวุ่นวายมากที่สุด หรือร้อยละ 21.8 ระบุ การแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี รองลงมาคือร้อยละ 19.4 ระบุ ความแตกแยกของคนในพรรคการเมือง ร้อยละ 17.9 ระบุ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ร้อยละ 12.3 ระบุ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่คอยสร้างความขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่วรอบด้าน ร้อยละ 11.3 ระบุ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจความวุ่นวายของบ้านเมือง และร้อยละ 17.3 ระบุอื่นๆ เช่น มีคนจ้องจะถอนทุนคืน และผู้ใหญ่คล้อยตามแรงยั่วยุจากคนรอบข้าง

...

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามคนที่นายกรัฐมนตรีควรวางใจระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้คุมกระทรวงสำคัญ ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า สูสีไม่แตกต่างกัน คือ ร้อยละ 25.1 ระบุ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.9 ระบุอื่นๆ เช่น ไม่ทราบ ไม่เสนอ ไม่ออกความเห็น เป็นต้น

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มจุดยืนทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 ถึงช่วงปลดล็อกผ่อนปรนโควิด-19 เดือน มิ.ย. 2563 พบว่า แนวโน้มกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จากร้อยละ 52.2 ช่วงหลัง กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก ไปอยู่ที่ร้อยละ 54.4 ในผลสำรวจล่าสุด ทิ้งห่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 22.3 และพลังเงียบหดตัวลงอีกจากร้อยละ 27.4 เหลือร้อยละ 23.3.