นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ยังตาม จี้ "บิ๊กตู่" ไม่เลิก เน้น 5 ข้อ ขอให้เสียสละลาออก ก่อนจะสายเกินแก้

วันที่ 13 มิ.ย. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ตามจี้ "บิ๊กตู่" 5 ข้อ ขอให้เสียสละลาออก ก่อนจะสายเกินแก้ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว-ปม คน พปชร.ชิงอำนาจกันเอง และไม่มีความจริงใจแก้น รธน.ปี 60 

แถลงการณ์คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

ตามที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ออกแถลงการณ์ ในโอกาสครบรอบ 28 ปี ของเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงด้วยการเสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ใหม่แล้ว เพราะไม่ได้ปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามสัญญาและยังสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้เพื่อเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลชุดต่อมาที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้เข้ามาแก้ปัญหาซึ่งถือเป็นการล้างกระดานใหม่ ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองจะรุมเร้าเกิดความปั่นป่วนโกลาหล และกระทบต่อสถาบันสำคัญของชาติจนไร้หนทางเยียวยาวแก้ไขได้ โดยก่อนจะลาออก 3-4 เดือน ให้แก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนิ่งเฉยไม่สนใจ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงขอตอกย้ำสถานการณ์ดังนี้

1.การแย่งชิงตำแหน่งกันในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกันท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากปัญหา ปากท้อง ตกงาน อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง สนใจแต่เพียงผลประโยชน์และพวกพ้องของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยรวม ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า อันเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อการปฏิรูป ขณะที่พรรคการเมืองอื่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็มีความขัดแย้งภายในเช่นกัน ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงการเมืองไทยก็จะวนเวียนอยู่ใน "การเมืองน้ำเน่า" เช่นนี้ ระบบรัฐสภาก็เป็นที่พึ่งพาไม่ได้ สุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตยและประเทศชาติกลายเป็นวงจรอุบาทว์อีก พอกันทีกับ "การเมืองน้ำเน่า" ประชาชนอดทนมามากแล้ว

...

2.พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปฏิรูปประเทศและไม่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ หลังยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 มีการตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วก็ยุบทิ้ง แล้วก็ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และปัจจุบันมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งหมดคือการซื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจเท่านั้น หลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด สถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นยุค New Normal คณะกรรมการปฏิรูปเหล่านี้จึงไร้ความหมาย ระบบการเมืองไทยก็ยังเป็นแบบ Old Normal ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามทั่วโลก ในขณะที่แกนนำกลุ่มการเมืองและผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยังติดคดีความ หากความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวอีก สถานการณ์จะลุกลามเกินกว่าใครจะควบคุมสถานการณ์ได้

3.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาอีกไม่นานแล้วก่อนจะสายเกินไป รีบเร่งแก้ปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เป็นเกียรติประวัติก่อนลงจากหลังเสือ โดยเฉพาะปัญหาทุนผูกขาดประเทศ ปัญหากับดักรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานไร้ความน่าเชื่อถือ จึงต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ก่อนประเทศไทยจะเผชิญสถานการณ์วิกฤติเหมือนสหรัฐอเมริกา ปัญหาใหญ่จากความขัดแย้งกำลังจะปะทุขึ้นมาในไม่ช้า โดยเฉพาะปัญหาการเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจในสังคม คนรวยล้นฟ้า 1% กลับครอบครองโภคทรัพย์ในแผ่นดินมากมาย แต่ประชาชนกำลังเป็นทุกข์ยากจากภาวะตกงาน และกำลังจะอดตายเพราะนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างประเทศที่ล้าหลัง

4.ถ้าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ขอให้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศไม่ใช่แต่งตั้งเพราะมีการต่อรองกัน ใครมีมือมากกว่าก็ได้กระทรวงที่มีผลประโยชน์ไปดูแล และที่สำคัญต้องโละระบบโควตา เพราะถ้ายังมีระบบนี้จะยิ่งทำให้ประเทศประสบวิกฤติหนักเข้าไปอีก และการปรับครม.ควรจะเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และทำภารกิจพิเศษ อาทิ การแก้ไขให้มีการลดค่าใช้ไฟฟ้า ประปา ราคาพลังงานและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ถูกลงกว่าเดิม เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ด้วยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับเอกชนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณอย่างแท้จริง

5.รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภามาถึงทางตันแล้ว จากการใช้อำนาจมิชอบลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่ขาดคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากทำหน้าที่รัฐสภามาก่อน เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกันชัดเจน และอย่านำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับผู้แทนปวงชนจากทุกพรรคการเมืองเพื่อเดินหน้าบ้านเมืองสู่การปรองดองสมานฉันท์โดยเร็ว

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35

13 มิถุนายน 2563