ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อ้างคดีฟ้องรัฐบาลไทยชดใช้หนี้ ‘กษิต’ ชี้แจง-บินถอนอายัดด่วน เผยเยอรมันลบหลู่พระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ระหว่างจอดอยู่ที่สนามบินมิวนิก อ้างเป็นของรัฐบาลไทย จะนำไปชดใช้ให้กับบริษัทวอเตอร์ บาวน์ ของประเทศเยอรมัน ที่ฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยเรื่องสัมปทานการก่อสร้างทางดอนเมืองโทลล์เวย์ “กษิต” บินด่วนไปเจรจาให้ถอนอายัดขอเครื่องบินคืน ยันเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ชี้เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของกระบวนการยุติธรรมเยอรมัน ด้านกระทรวงต่างประเทศเยอรมันออกแถลงการณ์ขออภัยแล้ว
ตามที่ศาลเยอรมันได้อายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ท่าอากาศยานนครมิวนิก เมื่อวันที่ 13 ก.ค.นั้น ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา 17.10 น. วันที่ 14 ก.ค. นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทวอเตอร์ บาวน์ ของเยอรมัน ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้ว แต่ได้มอบหมายให้ทนายความเป็นผู้จำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับสัมปทานในการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อปี 2548 และได้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ไต่สวนที่ฮ่องกง และมาสิ้นสุดที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ดำเนินการภายใต้อนุสัญญานิวยอร์ก ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2552 ได้ชี้ขาดให้ราชอาณาจักรไทยชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทวอเตอร์ บาวน์ เป็นเงินประมาณ 30 ล้านยูโร บวกดอกเบี้ยอีก 6 เดือน ในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2549รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบริษัทนี้ เป็นเงินเกือบ 2 ล้านยูโร
นายกษิตกล่าวว่า โดยเหตุผลที่ชี้ขาดให้ไทยเป็นผู้แพ้คดีคือ เพราะรัฐบาลไทยผิดพันธกรณี กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553 บริษัทดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการให้บังคับตามคำชี้ขาดตามคณะอนุญาโตตุลาการ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลไทยได้อุทธรณ์โดยสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย โดยกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของเรื่อง และมีกระทรวงการต่างประเทศช่วยดำเนินการอุทธรณ์ด้วย ทั้งนี้ ผลออกมาบังคับให้ไทยต้องจ่ายเงินชดเชยในประเทศใดก็ได้ ที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ก ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งบริษัทดังกล่าวยังได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมของเยอรมันด้วย ทำให้เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมของเยอรมันได้มีคำพิพากษาให้อายัดเครื่องบินในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ ราชกุมาร ที่จอดอยู่ที่นครมิวนิก ของเยอรมัน ทั้งนี้ ตนได้ทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 13 ก.ค. จึงได้เร่งดำเนินการมาจนถึงวันนี้
...
“ทางเจ้าทุกข์ และศาลเยอรมัน สามารถอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ แต่เครื่องบินลำนี้ที่จอดอยู่นั้นเป็นของส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทย เพราะฉะนั้นในแง่กฎหมาย เราถือว่าเป็นการอายัดทรัพย์สินส่วนบุคคล ถือเป็นการผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เราได้ยืนยันเรื่องนี้ผ่านทางการทูต ผ่านทางสถานทูตไทยที่กรุงเบอร์ลิน และตนได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึง รมว.ต่างประเทศเยอรมัน ซึ่งเมื่อท่านได้รับเรื่อง ก็ส่งมอบให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันติดต่อกลับมาหาผมในทันที แสดงว่าเขามีความห่วงใยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน สถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน ก็ได้ติดต่อกับกรมสนธิสัญญาของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันอย่างใกล้ชิดด้วย โดยเราได้ยื่นหลักฐานคือใบทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของว่าเป็นเครื่องบินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย” นายกษิตกล่าว
รมว.ต่างประเทศกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของไทย ที่ประกอบด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด และรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปถึงนครมิวนิกแล้วเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ พร้อมกันนี้ นายจริยวัฒน์ สันตะบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ไปพบกับทนายความที่ฝ่ายไทยแต่งตั้งขึ้นและในคืนวันนี้ เวลา 23.00 น. ตนจะออกเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เพื่อพบกับรัฐบาลเยอรมันแสดงความกังวลใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของกระบวนการยุติธรรมของเยอรมัน ที่ไต่สวนแต่เพียงฝ่ายโจทก์เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังได้รับข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากทนายฝ่ายโจทก์ จนส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เชื่อว่าหากทางเยอรมันได้รับข้อมูลจากเรา คาดว่าในเร็วๆนี้ จะสามารถหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้ โดยเป้าหมายแรกของเราคือ ต้องถอนอายัดเครื่องบินพระที่นั่งดังกล่าวในทันที ส่วนกระบวนการต่อสู้คดีก็ยังเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยกับบริษัทวอเตอร์ บาวน์ ต่อไป
ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ รายงานอ้างอิงคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันระบุว่ารัฐบาลเยอรมันขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นผลจากการยึดเครื่องบินลำดังกล่าว และมิได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม