ข่าวคราวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หายไปหลายเดือน กลับมาอีกครั้งหลังจากอิทธิฤทธิ์ของโควิด-19 เริ่มซา กลับมาพร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจ เช่น มีการตั้งวงเสวนาตั้งคำถามว่า ส.ว.ควรเดินหน้าต่อหรือยกเลิก และคณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาแก้ไขเกี่ยวกับการสรรหาองค์กรอิสระ และการตรวจสอบองค์กรอิสระ

ในเวทีเสวนาที่ตั้งชื่อน่าสนใจว่า “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่...” นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. (เลือกตั้ง) กล่าวว่า ส.ว.คือฝ่ายตรวจสอบฝ่ายบริหาร ออกกฎหมายให้รัฐบาลถามว่าจำเป็นต้องมี ส.ว.หรือไม่ ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า ส.ว. เป็นเครือข่ายอำนาจคณะรัฐประหารไม่ได้ตรวจสอบรัฐบาล

ไม่ทราบว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องวุฒิสภาเมื่อใด แต่หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการแถลงว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการปรับปรุงองค์กรอิสระ เพราะมีความบกพร่องหลายอย่าง รวมทั้งขอบเขตอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระที่ต้องมีการตรวจสอบ

สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. และองค์กรอิสระ เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในวงการเมือง ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เพราะมีสิทธิ์ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และอาจเลือกได้หลายครั้งใน 5 ปี ส่วนองค์กรอิสระถูกตั้งคำถาม

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถามว่าทำไมองค์กรอิสระจึงมีความยึดโยงกับประชาชนน้อย แต่มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทบจะไม่มีกระบวนการตรวจสอบ เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วก็จบ ไม่มีใครไปสอบถามเหตุผลตามคำแถลงของโฆษกคณะกรรมาธิการ ส่วนคนทั่วไปอาจสงสัยภายใต้รัฐบาล คสช. องค์กรอิสระจริงหรือไม่

...

จึงขอเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ ควรจะแก้ไขเริ่มตั้งแต่ “ที่มา” ขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน องค์กรอิสระส่วนใหญ่ผ่านคณะกรรมการสรรหาคล้ายกัน และต้องผ่านด่านสุดท้ายคือวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. อาจเป็นช่องโหว่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงหรือครอบงำ การแต่งตั้งองค์กรอิสระหรือไม่

ถ้ากระบวนการแต่งตั้งถูกการเมืองแทรกแซงจะขาดความเป็นอิสระหรือไม่ ส่วนระบบการตรวจสอบมีอยู่บ้าง แต่อาจยังไม่เข้มแข็งพอ เช่น มาตรา 234 และ 235 ควรจะมีการตรวจสอบแบบมาตรา 236 ต่อทุกองค์กรอิสระ ไม่ใช่เพียง ป.ป.ช. ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือประชาชนเข้าชื่อ กล่าวหาองค์กรอิสระต่อประธานรัฐสภา จนถึงศาลฎีกา.