“บิ๊กตู่” ชี้แจงความจำเป็น พ.ร.บ.โอนงบฯ พร้อมตอบคำถาม ส.ส.ในสภาฯ ย้ำ ไม่ได้ใช้แค่เพื่อโควิด-19 ลั่น ต้องโปร่งใส ใครเอี่ยวทุจริตต้องลงโทษทุกคน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะการอภิปรายเรื่องด่วนพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. .... ในช่วงหนึ่ง ว่า ได้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพิจารณาในเรื่องการใช้จ่ายเงินดังกล่าวให้สอดคล้องบริบทความเป็นจริงปัจจุบันที่กำลังเกิดการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการวางไปถึงอนาคต

สิ่งที่ต้องเข้าใจตรงกันคือ งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐมีหลายส่วน รายจ่ายงบกลางไม่ใช่งบประมาณที่รัฐบาลสามารถจะนำมาบริหารได้ทุกบาททุกสตางค์ โดยนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว การโอนงบประมาณออกจากกระทรวง กรม ต้องทำเป็น พ.ร.บ. เท่านั้น โดยใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณา 3 วาระ ช่วงที่ผ่านมาการโอนงบประมาณรายจ่ายก็ทำเป็น พ.ร.บ. ทั้งสิ้น

...

ส่วนที่ไม่จัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ก่อนออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสมาชิกในที่ประชุมว่า เงินไม่พออยู่แล้ว เพราะประมาณการไปถึงอนาคตที่ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด-19 งบกลางเดิมที่เป็นงบฉุกเฉินสำรองจ่ายมีไม่เพียงพอ เงินทั้ง 2 ก้อนจะต้องเข้ามาอยู่ในกรอบที่รัฐบาลกำหนดว่าจะใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ซึ่งงบส่วนใหญ่ที่ปรับโอนมางบประมาณกลางคือในส่วนที่ยังทำสัญญาไม่ได้ แผนยังไม่สมบูรณ์ เมื่อพร้อมก็เสนอเข้ามาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ไม่ได้ตัดหายไป

“เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็พยายามผ่อนลดลงทุกอย่าง ไม่อยากพูดว่าผมเป็นทหาร ให้เห็นใจเป็นพิเศษ แต่ให้ดูว่าเขาทำหน้าที่กี่อย่างที่ไม่ใช่หน้าที่เขาโดยตรง ทั้งที่เขามีหน้าที่ป้องกันประเทศ แต่เมื่อโควิด-19 น้ำท่วม ฝนแล้ง ก็ต้องไปช่วย ตอนนี้มีหน้าที่เพิ่มเติมมาโดยที่ไม่ได้ไปเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม และไม่ได้แก้ตัวว่าทำไมต้องใช้ของแพงของดี แต่ชีวิตคนสำคัญ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความปลอดภัย เขาก็มีครอบครัว ต้องมีความคุ้มครองปลอดภัย อะไรที่ยืดได้ก็ไปหาต่อในระยะหน้า แต่ถ้าบอกไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องมีทหาร ก็แล้วแต่ท่านจะคิด”

ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายงบกลางเงินสำรองฉุกเฉินหรือจำเป็น 9.6 หมื่นล้านบาท ใช้แก้โควิด-19 ไปแล้ว 5.6 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ คงเหลือ 453.29 ล้านบาท ต้องหาเงินเพิ่มมาแก้ปัญหา จึงต้องเสนอทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ หรือเรียกว่าต้องมีเงินในกระเป๋าบ้างเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่ความโปร่งใส ขออย่างเดียวอย่ามีใครลงไปยุ่งกับข้างล่าง อย่าให้มีคดีอีก ต้องลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้อง และต้องเข้าใจว่าประชาชนคือคนไทยทั้งประเทศ ต้องดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม การลงทุนทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่ได้ใช้เร่งด่วน ก็นำกลับมาดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งท้ายว่าไม่อยากให้เกิดการประท้วง ขอให้ทำความเข้าใจให้มากที่สุด ทุกอย่างมีขั้นตอน เจ้าหน้าที่ต้องสุจริต มีกลไกตรวจสอบ สามารถร้องเรียนหน่วยงานได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ตนเองรับฟังทั้งหมด แต่สิ่งที่กังวลคือประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ ประเทศไทยต้องเดินหน้าอย่างนี้ หากปรับปรุงสิ่งต่างๆ อนาคตบ้านเมืองก็จะดีขึ้นเอง “การติติงเป็นประโยชน์ผมรับได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ฟัง หรือฟังทะลุไป ไม่อย่างนั้นมันปวดหัวนะ ปวดหัวพอสมควรเหมือนกัน”