เหตุใน พลังประชารัฐ

ไม่ง่ายอย่างที่คิด...

ระหว่างที่สภามีการอภิปรายว่าด้วย พ.ร.ก.กู้เงินนั้นกลับมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองซ้อนขึ้นมา

น่าสนใจกว่า น่าลุ้นกว่า

ก็ปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลที่ค้ำจุนเก้าอี้นายกฯให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ว่าไปแล้วท่วงทำนองในการก่อเกิดของพรรคนี้เพราะเหตุใด มีความเป็นไปอย่างไรคงทราบกันดีอยู่แล้ว

จนกระทั่งกุมเสียง ส.ส.ได้เป็นรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็เป็นได้แค่เพียงรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเรียกว่าเผลอเป็นเสร็จแน่

แต่ก็เอาตัวรอดมาจนได้ยิ่งเปิดปฏิบัติ “แจกกล้วย” สำเร็จทำให้มีเสียงข้างมากจนทำให้เสถียรภาพมีความมั่นคงอยู่ได้สบายๆ

หากไม่เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในไม่ต่างกับ “อำนาจบังตา” จนเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกที่ยังคาดการณ์ไม่ได้จะมีจุดจบอย่างไร

เมื่อมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากประธานยุทธศาสตร์พรรคไปสู่เก้าอี้หัวหน้าพรรคพ่วงด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกันใหม่

“4 กุมาร” คือเป้าหมาย?

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคและทีมงานบุกเบิกภายใต้เสื้อคลุม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

ร่องรอยที่เกิดขึ้นนั้นมีมาเป็นระยะๆแต่เพราะเงื่อนไข “โควิด-19” ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำอะไรได้ไม่เต็มที่

แต่คาดการณ์กันว่าหลังไวรัสเบาบางลงจะต้องเกิดเหตุใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะความขัดแย้งนั้นกินลึกมีการแสดงตัวตน อย่างชัดเจน

...

ทั้ง “ขุน” ทั้ง “เบี้ย” เปิดหน้าสู้กันแล้ว

จนกระทั่ง พล.อ.ประวิตรประกาศชัดเจนว่าจะต้องมีการปรับ ครม.ก็เท่ากับส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ยากจะปฏิเสธ

ด้วยประเมินว่ามีความเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนด้วยเสียงในมือที่มากกว่าแม้ในส่วนของกรรมการบริหารพรรคที่สูสีกันแต่สุดท้ายก็ไม่น่าพลาด

ยิ่งความรู้สึกที่ว่าใครเป็น “เจ้าของเงิน” คือ “เจ้าของคอก” อีกด้วย

ทว่าด้วยความหลากหลายในพลังประชารัฐมีหลายกลุ่มหลายก๊กด้วยผลประโยชน์ในตำแหน่งแห่งหนถึงที่สุดจึงไม่ใช่เรื่องที่ยอมกันได้ง่ายๆ

ฝ่ายที่มีแต้มต่อน้อยกว่าจึงต้องพยายามดิ้นสู้ด้วยการสะสมผู้สนับสนุนให้ได้มากที่สุดจึงได้เป็นบรรดานักการเมืองอย่างน้อยๆก็ 60 คน ที่จับมือกันเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

เป็นการสั่งสมกำลังอย่างที่อีกฝ่ายคาดไม่ถึงว่าจะเจอแบบนี้

แม้จะไม่ถือว่ามีแต้มต่อที่เหนือกว่าแต่ก็พอที่จะทำให้อีกฝ่ายต้องคิดหนักไม่น้อยแสดงถึงการไม่ยอมจำนน

หากประเมินสถานการณ์ในศึกแย่งชิงกันใหญ่ในพลังประชารัฐ แล้วทางหนึ่งก็คือการเพิ่มอำนาจต่อรองไม่ใช่จะมาเขี่ยทิ้งกันได้ง่ายๆ

อย่างน้อยก็ต้องตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกไม่ให้เสียหน้าเสียตากันมากนักเพราะต้องไม่ลืมว่าตัวเลข 60 คนนั้นล้วนมีความหมาย

อันหมายถึงความล่มสลายของพลังประชารัฐและรัฐบาลได้.

“สายล่อฟ้า”