ก.อุตสาหกรรม ย้ำไทย เป็นฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มุ่งสู่ "สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์" ในอนาคต ขณะ "พานาโซนิค" ย้ายฐานการผลิต เป็นเพียง 2 จาก 18 โรงงาน ยันไม่เกี่ยวข้องความเชื่อมั่นลงทุนในไทย
วันที่ 28 พ.ค. 2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นัดหารือร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมียอดการส่งออกมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รวมถึงยอดขอตั้งประกอบโรงงานใหม่ และขยายกิจการโรงงานประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบ 5 เดือนแรกของปี 62 กับปี 63 พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 43 โรงงาน เป็น 53 โรงงาน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จาก 9,372 คน เป็น 29,064 คน จากการสอบถามนักลงทุนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักลงทุนชื่นชมการรับมือรัฐบาลไทย สามารถรับมือกับโควิด ได้ดี ส่งผลเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น 5-10%
...
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนที่ทำธุรกิจภายในประเทศอยู่แล้ว มีแผนจะขยายการลงทุนภายในปีนี้เพิ่มขึ้น อาทิ ซัมซุง มิตซูบิชิ โตชิบา ซีเกต ไซโจเด็นกิ เป็นต้น ส่วนกิจการที่มีการย้ายฐานการผลิตนั้น การตรวจสอบพบว่า เป็นการปรับแผนทางธุรกิจที่วางไว้เดิมอยู่แล้ว
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากครึ่งหลังของปี 2562 โดย 5 เดือนแรกของปี 2563 มียอดคำขอ 62 โครงการ มูลค่ากว่า 26,764 ล้านบาท ประกอบด้วยอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบสมาร์ท เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หมวดผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วงจรรวม หรือ IC (Integrated Circuit) และแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCBA เซลล์แสงอาทิตย์ และสัดส่วนของนักลงทุนที่เข้ามาดำเนินการขอฯ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา และสวีเดน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ยังยืนยัน ยึดไทยเป็นฐานการผลิต และมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้านผู้บริหารกลุ่มพานาโซนิค ยืนยันว่า การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม นั้น ไม่ได้มีผลเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมั่นการลงทุนในไทย เนื่องจากพานาโซนิค เปิดโรงงานในไทยทั้งสิ้น 20 โรงงาน และย้ายฐานการลงทุนไปเพียง 2 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่มีเทคโนโลยีแบบเก่า ไม่ได้ใช้งานในประเทศไทยแล้ว และยังเหลือบริษัทในประเทศไทยอีก 18 แห่ง โดยยังคงมีการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย