"พิชัย" จี้ "บิ๊กตู่" ป้องกันการทุจริตใช้เงินเพื่อค้ำตำแหน่ง ย้อนโครงการกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 2 หมื่นล้าน มีของ ส.ส.พปชร.เท่าไร ชี้ สตง.ต้องตรวจสอบทุกโครงการเหมือนกับที่เคยตรวจ โดนกันทั่วหน้า สมคิด-อุตตม-ธปท.

วันที่ 20 พ.ค.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกติดลบตามที่ได้เตือนไว้แล้ว โดยติดลบที่ -1.8% ทั้งที่การล็อกดาวน์ยังไม่เกิดจนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม ซึ่งไตรมาสที่สองเศรษฐกิจไทยจะยิ่งติดลบหนักจากการล็อกดาวน์ ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจติดลบในไตรมาสแรกปีนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยลดลงจากไตรมาสก่อนสองไตรมาสติดต่อกัน หลังจากที่ไตรมาสสี่ปีที่แล้วขยายตัวต่ำมากและเศรษฐกิจยังมีทิศทางที่จะถดถอยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยทั้งปีอาจจะติดลบหนักถึง - 8 % ก็เป็นได้

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะต้องทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจและต้องระวังการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าปล่อยให้มีการรั่วไหล และเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้งอย่าให้มีการใช้เงินสะเปะสะปะเพียงเพื่อจะรักษาตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถึงขนาดที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเองที่ปกติเข้าข้างรัฐบาล ยังต้องออกมาเตือนและขอตรวจสอบการใช้เงินในทุกโครงการในการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้คงเพราะเกรงว่าประเทศไทยอาจจะล่มจมได้หากยังมีแนวโน้มจะใช้เงินมั่วๆ ตามแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ก่อนอื่นพลเอกประยุทธ์ ต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถน้อยทางด้านเศรษฐกิจ อย่าดันทุรังทั้งที่ไม่รู้ และต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ทางเศรษฐกิจที่ไม่โกหกและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาคอยแนะนำ เหมือนที่ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร เคยแนะนำให้กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในอดีต

...

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เมื่อหันมาพิจารณาแนวทางการใช้อัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ทิศทางยังสับสน จากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ชี้แจง ก็ยังไม่มีแผนงานชัดเจน และไม่สามารถวัดผลได้ โดยเฉพาะเงิน 4 แสนล้านบาท ที่นายสมคิดบอกว่า จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แถมยังโม้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับจะนำประเทศย้อนหลังไปเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งไม่น่าจะฟื้นเศรษฐกิจได้ อีกทั้งสภาพัฒน์ฯ กลับแถลงสวนทางตรงข้ามว่า เป็นแค่การประคองเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งความคลุมเครือนี้ทำให้น่าห่วงว่าจะมีการหว่านเงินเพื่อเอาใจ ส.ส. เพียงเพื่อรักษาตำแหน่งกันเท่านั้น

นายอุตตม สาวนายม รมว. คลัง และหัวหน้าพรรค พปชร. ตั้งแต่มีข่าวการถูกกดดันให้ออกจากหัวหน้าพรรค ก็หายเงียบไปเลยซึ่งก่อนหน้าก็เงียบอยู่แล้วไม่เคยอธิบายแนวทางเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ปัญหา อีกทั้งการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ขนาด ส.ส. ปากกล้า ของ พรรค พปชร. เองยังต้องออกมาตำหนิระบบการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” นี้ถึงขนาดไล่ให้ไปตาย และเพิ่มเติมด้วยปัญหาเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ทั่วถึงอีกเช่นกัน ทั้งที่ควรจะเยียวยาพร้อมกันไปทีเดียว เพราะจ่ายเท่ากันอยู่แล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำแยกกันแล้วเกิดความล่าช้า ทั้งที่เยียวยาพร้อมกันก็น่าจะทำได้ ทั้งนี้ ตนขอคัดค้านการหาแหล่งเงินกู้ของกระทรวงการคลังที่ชี้แจงว่าจะกู้เงินบางส่วนจากองค์กรระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพราะจะเกิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการใช้เงินกู้เงินดังกล่าวไม่มีความต้องการการใช้เงินสกุลต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งในปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินในประเทศน่าจะเพียงพออยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปกู้เงินจากต่างประเทศแต่อย่างใด จึงอยากให้พิจารณาให้ดี

ในกระทรวงพลังงาน ก็ยิ่งสับสนหนัก มีข่าวการใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อล่อใจ ส.ส. พปชร. เพื่อรักษาตำแหน่ง พร้อมข่าวการประกาศหาผู้ที่สนใจจะมาเป็น รมว. พลังงาน ถึงแม้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พลังงาน จะออกมาปฏิเสธแล้ว แต่จากข้อมูลว่ามีการเสนอหลายโครงการเข้ามามียอดเงินรวมถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณมีเพียง 5.6 พันล้านบาทเท่านั้น ทำให้สงสัยว่าโครงการที่เสนอมาจะมีโครงการของ ส.ส. ของ พปชร. จำนวนกี่โครงการ ซึ่ง ส.ส. อาจจะถูกหลอกให้ทำโครงการเข้ามาก็ได้ แต่การอนุมัติก็ไม่ง่าย และอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ ซึ่งในอดีตตนทำถูกต้องตามหลักการทั้งหมด ยังเคยถูกรัฐบาลสั่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบทุกโครงการเลย และก็พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องหมด ซึ่งก็หวังว่า สตง. จะเข้าตรวจสอบการใช้เงินของกองทุนอนุรักษ์พลังงานในมาตรฐานเดียวกันด้วย อีกทั้งขอให้เข้าตรวจสอบทุกโครงการในการที่จะใช้เงิน 1 ล้านล้านบาททั้งหมดเพื่อความโปร่งใสด้วย นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์เองยังไม่ได้ตอบเรื่องนโยบายการใช้ E20 ที่จะผสมเอทานอลที่แพงกว่าน้ำมันหลายเท่าตัวเพิ่มขึ้นทำไม เพราะจะทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น และการจะออกใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้าในราคาซื้อไฟฟ้าที่แพงกว่าปกติทั้งที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันเกินความต้องการกว่า 40% แล้ว อีกทั้งการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ลดลง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน และการตรวจสอบการทุจริตซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียที่ปัจจุบันขาดทุนมาก

แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็ควรจะต้องดำเนินการตามหลักการ โดยการเข้าช่วยซื้อตราสารหนี้ของเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์จะดีกว่าที่ ธปท. จะเข้าซื้อเอง อย่าให้ประชาชนคิดกันได้ว่า ผู้ว่าการ ธปท. ต้องการเอาใจรัฐบาลเพียงเพื่อจะขอต่อเทอมการเป็นผู้ว่าฯ ที่กำลังจะหมดเทอมลงในเร็วๆ นี้ และ ธปท. ก็ควรจะลดดอกเบี้ยลงให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่และจะย่ำแย่ลงอีก อีกทั้งการดูแลค่าเงินบาทที่ควรจะต้องอ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจเพื่อช่วยสนับสนุนการส่งออกที่ไตรมาสแรกติดลบหนักแล้วถึง -6.7% และทั้งปีการส่งออกน่าจะยิ่งติดลบหนักกว่านี้

"ในภาวะวิกฤตการณ์ไวรัสที่กลายมาเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลจะต้องคิดให้ครบกรอบ และต้องมองภาพใหญ่ให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หากยังคิดสับสนและเป็นห่วงแค่การรักษาตำแหน่งและการแย่งชิงตำแหน่งกัน ประเทศไทยจะเดินผิดทางและจะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก" นายพิชัย กล่าว...