หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งให้ใครทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชน จะให้คงไว้หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เท่าที่ทราบมีสื่อบางสำนักทำโพลพบว่ามีผู้เห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ออกไปอีกถึง 88% มีเพียง 12% ที่เห็นควรยกเลิก
นายกรัฐมนตรีไม่ได้เปิดเผยว่าสื่อสำนักใดเป็นผู้ทำโพล ที่มีผลเป็นการเชียร์รัฐบาลแบบสุดฤทธิ์สุดเดช กระทำกันตั้งแต่เมื่อใด มีการเผยแพร่ผลต่อสาธารณชนหรือไม่ ทำโพลถูกต้องตามหลักวิชาการและน่าเชื่อถือหรือไม่ น่าจะเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ต่อประชาชนมิฉะนั้นอาจเสียหายต่อสื่อโดยรวม
ในสังคมประชาธิปไตย นักการเมืองกับสื่อมวลชนควรรักษา “ระยะห่าง” ระหว่างกันและกันตามสมควร สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ยึดถือระบบเพื่อนพ้องน้องพี่ ถ้าไม่รักษาระยะห่างอาจมีการลํ้าเส้น ทำให้สื่อฝ่าฝืนจริยธรรมของสื่อร้ายแรง และนักการเมืองก็อาจละเมิดจริยธรรมทางการเมือง เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีอคติต่อกัน
รัฐธรรมนูญจึงมีบทบัญญัติห้ามนักการเมืองทั้ง ส.ส. หรือรัฐมนตรี ไม่ให้เป็นเจ้าของสื่อหรือผู้ถือหุ้นสื่อ ผู้ฝ่าฝืนต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อป้องกันไม่ให้สื่อกลายเป็นกระบอกเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อ สรรเสริญเยินยอพรรคที่ชอบ หรือพรรคที่จ้าง และวิพากษ์พรรคตรงข้ามในทางเสียหาย ยิ่งถ้าสื่อเป็นสำนักโพลเสียเองก็อาจจะไปกันใหญ่
กฎหมายการเลือกตั้งของไทย ห้ามเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดคะแนนนิยมของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือ ห้ามเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่ามีคะแนนนิยมสูง และคู่แข่งคะแนนนิยมตํ่า โดยอ้างว่าเป็นผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือโพล
...
ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติข้างต้น อาจต้องโทษถึงโดนใบแดง รวมทั้งจำคุก และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นักการเมืองกับสื่อจึงควรรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันไม่ให้มีอคติ หรือความลำเอียง ไม่ว่าจะเป็นฉันทาคติลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบ หรือโทสาคติลำเอียงเพราะไม่ชอบหน้าหรือภยาคติลำเอียงเพราะกลัว
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การต่อหรือไม่ต่ออายุ พ.ร.ก. ขึ้นอยู่กับเหตุผลด้านสาธารณสุข มีผู้ติดเชื้อน้อยลงหรือลดเหลือ 0 จากแนวโน้มในขณะนี้ และจากการฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ ยืนยันตรงกันว่าสถานการณ์ด้านโควิด-19 ดีขึ้นมาก เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิตเหลือ 0 พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงอาจไม่จำเป็นในวันใดวันหนึ่ง.