ความพยายามในการเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนจาก สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือหรือลดภาระการใช้จ่ายภาคประชาชน ช่วยเหลือผู้ประกอบการและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบเกิดกับประชาชนหนักหนาสาหัสเกินเยียวยา
ประเดิมที่กระทรวงพลังงานที่มี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมว.กระทรวงพลังงาน ออกนโยบาย Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน ใช้โอกาสนี้ในการบรรเทาผลกระทบทุกภาคส่วน
ที่ผ่านมาประชาชนประสบกับปัญหาค่าไฟแพง นอกจากกระทรวงพลังงานจะเยียวยาโดยการคืนประกันการใช้ไฟฟ้า จำนวน 21.5 ล้านรายแล้ว ยังเข้าไป ตรึงค่าเอฟที ในระดับหนึ่งและร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลดค่าไฟลงมาร้อยละ 3 ให้ผู้ใช้ไฟทุกประเภท เยียวยาผู้ใช้ไฟภาคครัวเรือน ที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านครัวเรือน
มีการขยายเพดานการใช้ไฟฟรี และการลดค่าไฟให้จ่ายเท่าเดิมตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ. ถ้าใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วย และในส่วนที่เกิน เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าในเดือน ก.พ. ของแต่ละครัวเรือนก็ให้ลดค่าไฟในส่วนที่เกินลงร้อยละ 30-50 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.63
นอกจากนี้ยังมีการดูแลลดค่าแก๊สหุงต้มครัวเรือน ลดราคาเชื้อเพลิง NGV ให้รถโดยสารสาธารณะ และตรึงราคา NGV ให้รถทั่วไปอีกด้วย แม้จะแค่ระยะเวลา 3 เดือน แต่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงวิกฤติทุกข์ร้อนได้ในระดับหนึ่ง
...
สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการมีการขยายเวลาการชำระค่าไฟในกลุ่มธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าพักอาศัย การลดต้นทุนไฟฟ้าผู้ประกอบการ อย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพัก ที่จะปรับให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม ปรับลดอัตราสำรองน้ำมันช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมยืดระยะเวลาการยกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 63 และเตรียมพิจารณาผ่อนผันค่าไฟให้กับภาคธุรกิจบริการ และธุรกิจอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้
ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมอาชีพด้านพลังงานผ่านการเร่งรัดให้โครงการขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียมในกิจการรื้อถอนและสร้างแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช เร่งรัดให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็กในชุมชนให้เกิดขึ้นโดยผ่านกลไกการลงทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ในชุมชนตามมา
มาตรการต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะตามมา ทั้งการเยียวยาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องทำควบคู่กันไป จะเป็นพื้นฐานไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 อย่างดี
ไม่ใช่แค่ไทยแลนด์ 4.0 แต่ต้องไกลกว่านั้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th