วันนี้มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำเรื่องแผนฟื้นฟูการบินไทยครั้งสุดท้าย เข้าพิจารณาใน ครม. ทุกครั้งที่มีการทำแผนฟื้นฟูการบินไทยก็จะได้ยินเรื่องเก่าๆ จากสหภาพการบินไทยบ้าง นักการเมืองรุ่นเก่าบ้าง ขุดคุ้นความเสียหายในอดีตว่าเป็นสาเหตุทำให้ขาดทุน ซึ่งก็คือพวกนักการเมืองด้วยกันนั่นแหละ แต่ไม่มีใครพูดถึงอนาคตการบินไทย เลยจะฟื้นฟูกันอย่างไรให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม ถ้ามัวแต่นำเหล้าเก่าที่เน่าเสียมาปิดฉลากใหม่ เพื่อปกปิดความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สุดท้ายแผนฟื้นฟูที่สวยงามก็ล้มเหลวลงทุกครั้ง เงินภาษีก้อนใหม่ 50,000 ล้านบาท ก็จะถูกใช้หมดเกลี้ยงไปในเวลาอันรวดเร็ว แล้วทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม
ผมตั้งคำถามไปวันศุกร์ที่แล้วว่า การบินไทยจะฟื้นฟูได้ไหม? แล้วใครจะมาเป็นผู้นำการฟื้นฟู? เพื่อให้เป็นข้อคิดในการฟื้นฟู ไม่ได้หวังคำตอบหรอก และเสนอให้ลอกแผนฟื้นฟู JAL มาใช้เพราะแผนที่ดี ใช้เวลา 2 ปี ก็สามารถฟื้นฟู JAL จากสายการบินที่ล้มละลายกลับมามีกำไรขายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ใหม่ อย่างน่ามหัศจรรย์
ปัญหาของการบินไทย นอกจากเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่การซื้อเครื่องบิน เครื่องยนต์ น้ำมันเครื่องบิน ตั๋วโดยสาร ไปจนถึงมะนาวที่เคยเป็นข่าวมาตลอด ล้วนเกิดจากนโยบายเชิงสุจริต ที่มาจากนักการเมือง ผ่านคณะกรรมการ ลงไปสู่ผู้บริหาร หรือผ่านผู้บริหารโดยตรงแทบทั้งสิ้น ทุกครั้งที่มีการทำแผนฟื้นฟู ไม่มีใครแตะตรงนี้เลย เมื่อแก้ไขไม่ถูกจุด แผนฟื้นฟูกี่แผนก็ไม่เคยสำเร็จ
ผมเปิดดู งบการบินไทย 2562 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,016 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายหลักๆ อันดับ 1 ค่าน้ำมัน 54,675 ล้านบาท อันดับ 2 ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน 31,171 ล้านบาท (ค่าอะไรไม่รู้สูงเป็นอันดับ 2) อันดับ 3 ค่าบริการการบิน 21,058 ล้านบาท อันดับ 4 ค่าซ่อมและค่าบำรุงรักษา 19,321 ล้านบาท อันดับ 5 ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ 15,892 ล้านบาท
...
ค่าใช้จ่าย 5 ก้อนนี้ ล้วนมีเรื่องต้องตรวจสอบ เช่น ค่าน้ำมันเครื่องบินครั้งหนึ่งเคยถูกแฉว่า ทำให้การบินไทยขาดทุน เพราะมีอดีตผู้บริหารไปทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าในราคาแพงไว้หลายปี (ราคาน้ำมันเป็นเรื่องจับยาก) พอราคาน้ำมันในตลาดลดลง ก็ขาดทุนมหาศาล ปีนี้ราคาน้ำมันดิบลดลงหลายสิบเหรียญต่อบาร์เรล ไม่รู้จะขาดทุนอีกกี่พันกี่หมื่นล้าน
ปัญหาของการบินไทย ก็เหมือน JAL รัฐวิสาหกิจ สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่นในอดีต คือ JAL มีฝูงบินใหญ่มาก บริหารห่วยมาก แต่เงินบำนาญสูงลิ่ว รัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนั้นไม่ยอมควักเงินภาษีประชาชนไปจ่ายให้ง่ายๆ JAL จึงต้องยื่นล้มละลาย ลดทุนจดทะเบียนเหลือศูนย์ เพื่อล้างหนี้ 521,500 ล้านเยน ถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลจึงอัดฉีดเงินก้อนใหม่ 350,000 ล้านเยน เข้าไปฟื้นฟูและไปร้องขอให้ คุณปู่คาซูโอ อินาโมริ วัย 78 ปี ผู้ก่อตั้ง เคียวซีร่า ที่ไม่รู้เรื่องการบินเป็นประธาน JAL นำการฟื้นฟู และทำสำเร็จในเวลาเพียง 2 ปี สามารถขายหุ้นไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ใหม่อีกครั้ง
เมื่อ คุณปู่อินาโมริ เข้าไปเป็นประธาน JAL ก็จัดการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่เป็นเรื่องแรก แล้วคิดการบริหารแบบใหม่ โดยตั้งชื่อแปลกๆว่า การบริหารแบบอะมีบา (amoeba management system) เป็นระบบที่ให้แต่ละแผนกต้องรับผิดชอบกำไรของแผนกเอง เพราะก่อนล้มละลายพนักงานไม่สนใจเรื่องต้นทุนและความรับผิดชอบ แล้วลดพนักงานลง 16,000 คน คุณปู่ใช้เวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ฟื้นฟู JAL กลับมาทำกำไรสุทธิได้ในเดือนมีนาคม 2012
คุณปู่อินาโมริ แสบมากๆที่ตั้งชื่อ ระบบบริหารฟื้นฟู JAL ว่า amoeba management system เพราะ “อะมีบา” เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เคลื่อนไหวได้ด้วย “เท้าเทียม” ที่ยื่นออกมาจากลำตัว มีชีวิตอยู่ในพืชผักเน่าเปื่อยที่จมอยู่ในน้ำ เหมือน ซาก JAL ที่คุณปู่เข้าไปกอบกู้ฟื้นฟูยังไงยังงั้น ผมว่าท่านนายกฯ น่าเอามาใช้ฟื้นฟูการบินไทยเป็นอย่างยิ่งครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”