ผู้ที่ติดตามศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 88 ปี จนถึงบัดนี้ ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคการเมือง ของคณะรัฐประหารการเมืองไทย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในวาระสำคัญ แต่ยํ่าเท้าวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนขึ้นใหม่
จากนั้นก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่จะวนเวียนกลับสู่วงจรรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้ง และกลับคืนสู่วงจรรัฐประหาร ไทยจึงมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เพราะในรัฐประหาร แต่ละครั้งจะมีรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับ ฉบับที่หนึ่งคณะรัฐประหารฉีกทิ้ง
จากนั้น คณะรัฐประหารจะดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่เรียกว่า “ฉบับชั่วคราว” แต่ฉบับชั่วคราวบางฉบับมีอายุยืนยาวนับสิบปี จากนั้นก็จะมีรัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” แต่จะถาวรสมชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะรัฐประหารและประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ฉบับถาวรบางฉบับมีอายุแค่ปีเดียว
ฉบับชั่วคราวที่อายุยืนยาวที่สุดคือ รัฐธรรมนูญคณะปฏิวัติ 2501 ที่ตั้งสภา ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับถาวรตั้งแต่ปี 2501 ถึง 2511 กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างนานที่สุด (อาจจะในโลก) รัฐธรรมนูญ 2511 นำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในกว่าสิบปี เมื่อปี 2512 และได้ ส.ส.ชื่อดัง เช่น นายชวน หลีกภัย และนายอุทัย พิมพ์ใจชน
ส่วนพรรคการเมืองใหม่ๆ จะเกิดขึ้นทุกครั้งหลังรัฐประหาร เป็นพรรคของคณะรัฐประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจ เช่น พรรคชาติสังคม และพรรคสหประชาไทยของคณะปฏิวัติ พรรคสามัคคีธรรมของคณะ รสช. และพรรคพลังประชารัฐของคณะ คสช. มักประกอบด้วยนักการเมืองจากหลายกลุ่ม จึงมีการแย่งชิงเป็นธรรมดา
...
ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร อยู่ในวงจร ประชาธิปไตยครึ่งใบ เผด็จการครึ่งใบ นานๆ ทีจึงจะมีประชาธิปไตยเต็มใบวนเวียนกลับมา ประเทศไทยเคยเป็นดาวรุ่งทางด้านประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ขณะนี้แม้เพิ่งเลือกตั้งยังไม่นาน แต่ยัง ปชต.ครึ่งใบ
มีประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการนานหลายศตวรรษ หรือแม้แต่พม่า ซึ่งเคยอยู่ภายใต้เผด็จการกว่า 50 ปี เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเสรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 แต่ประชาธิปไตยกำลังไปได้ดี เพราะมีผู้นำทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแท้.