ประกันสังคม แจง เงินกองทุนยังอยู่ครบ 2 ล้านล้าน ลงทุนหลักทรัพย์มีความมั่นคงสูง ขณะจ่ายชดเชยว่างงานล่าช้า เหตุขยายคุ้มครองมากขึ้น ยัน เงินกรณีว่างงาน มีกว่า 1.6 แสนล้าน จ่ายชดเชย 2-3 หมื่นล้าน ไม่กระทบเสถียรภาพกองทุน
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงถึงข้อกังวลของผู้ประกันตนในประเด็นเงินกองทุนประกันสังคมกว่า 2 ล้านล้านบาทหายไปไหน และกองทุนมีเงินเพียงพอ ที่จะจ่ายสิทธิคาดประโยชน์ กรณีว่างงาน และกรณีอื่นๆ หรือไม่ ว่า ปัจจุบัน สปส. มีเงินกองทุนกรณีว่างงานกว่า 160,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน โดยได้ประมาณการเบื้องต้นจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน คิดเป็นเงิน 20,000 - 30,000 ล้านบาท สปส.มีเงินเพียงพอ จ่ายสิทธิประโยชน์ จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และได้เตรียมสำรองสภาพคล่อง ไว้รอการจ่ายเงินแล้ว ขอให้ผู้ประกันตนวางใจว่า กองทุนมีเงินกองทุนเพียงพอแน่นอน นอกจากนี้ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ยังอยู่ครบถ้วนไม่ได้หายไปไหน
นางพิศมัย กล่าวว่า เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ 31 มี.ค. 63 มีจำนวน 2,032,841 ล้านบาท นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชน ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ จำนวน 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของเงินกองทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 361,665 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของเงินกองทุน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย ร้อยละ 60 ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับกองทุน
...
โฆษก สปส. กล่าวถึงกรณีผู้ประกันตนไม่พอใจในการจ่ายเงินช่วยเหลือว่างงานล่าช้า ว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตน จากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ โดยกฎหมายได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 เม.ย. และ สปส.เริ่มทยอยจ่าย วันที่ 20 เม.ย.จนถึง 3 พ.ค. มีผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิ 1,177,841 ราย ได้สั่งจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 426,358 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 243,974 ราย และอยู่ระหว่างติดตามนายจ้างกว่า 50,000 สถานประกอบการ ให้เข้ามารับรองการหยุดงานลูกจ้าง 507,509 ราย เพื่อไม่ให้ลูกจ้างเสียสิทธิ์ ทั้งนี้ การขอรับเงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราวและไม่จ่ายเงินค่าจ้าง และลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบครบหกเดือนแล้ว