"ศ.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลัง ชี้ พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติ ซื้อหนี้เอกชนโดยตรง 4 แสนล้าน ผิดหน้าที่ธนาคารกลาง อาจใช้เงินอุ้มคนรวย หรือเกิดคอร์รัปชัน ส่วน พ.ร.ก.ช่วย SMEs 5 แสนล้าน เป็นสิ่งที่ดีควรทำ"
วันที่ 23 เม.ย. ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนด อีก 2 ฉบับ ที่ใช้เงินธนาคารชาติ ดำเนินการในวงเงิน 900,000 ล้านบาท ว่ารัฐบาลได้ใช้เงิน จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 11.4 ของผลผลิตรวมของชาติ (GDP ปี 2019 ประมาณ 16.7 ล้านล้านบาท) ในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อชดเชยรายได้ประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นเงินที่รัฐบาลกู้เอง 1 ล้านล้านบาท และเงินธนาคารชาติ 900,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสนับสนุนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 500,000 ล้านบาท และเงินซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรง 400,000 ล้านบาท
"พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารชาติสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loans) วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยกระทรวงการคลังจะจ่ายดอกเบี้ยแทนให้ 6 เดือน จากงบประมาณซึ่ง ในส่วนนี้จะเป็นผลดีและมาตรการเช่นนี้ได้เคยนำใช้มาแล้ว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในช่วงหลังน้ำท่วมปี 2554-57 ขอให้รัฐบาลใช้เงินจากกองทุนนี้ให้ครอบคลุมกว้างขวาง ให้ใช้ธนาคารพาณิชย์เอกชนต่างๆ ร่วมกระจายสินเชื่อเหล่านี้ เพื่อให้เงินถึงมือ SMEs อย่างรวดเร็ว ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ เพื่อดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปได้"
"SMEs มีมากกว่า 5.2 ล้านราย โดยเข้าถึงระบบธนาคารฯ เพียง 20.9% ที่เหลือใช้ทุนส่วนตัวและเงินกู้นอกระบบ SMEs ที่ขนาดเล็กมาก ได้แก่ แผงค้าในตลาด หาบเร่แผงลอย รถพุ่มพวง ร้านแฟรนไชส์ ผู้ค้าสลากรายย่อย ฯลฯ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อใดๆ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลคงต้องหาวิธีการใหม่ เช่น ให้ธนาคารของรัฐคือ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน สร้างกองทุนให้กู้สำหรับ SMEs รายเล็กขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีเงื่อนไขมากนัก ให้ใช้เงินจากส่วน 500,000 ล้านบาท แต่ในภาวะเร่งด่วนนี้ รัฐบาลคงต้องช่วย SMEs เล็กๆ เหล่านี้ โดยให้เงินช่วยเหลือชดเชยรายได้ เช่นเดียวกับที่ให้ประชาชน"
...
"พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจธนาคารชาติสามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี ที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 นั้น กระทรวงการคลังจะต้องรับภาระหากเกิดการขาดทุนในวงเงิน 40,000 ล้านบาท และธนาคารชาติซึ่งมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง ซึ่งอาจขาดทุนเป็นภาระภาษีของประชาชน และยังจะทำให้ธนาคารชาติขาดความเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ (Loss of confidence) แต่ควรทำตามขั้นตอนเดิม คือให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับซื้อตราสารหนี้เอกชนตามความเสี่ยง โดยมีการประเมินสภาพปัจจุบันของแต่ละบริษัท (Due diligence) จากนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถนำตราสารหนี้เหล่านี้ มาค้ำประกันเพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องจากธนาคารชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้รายสุดท้าย (Lender of last resort) โดยใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาทนี้"
"หากบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ (Credit risk) ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้รับความเสี่ยง ธนาคารชาติเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของระบบตลาดการเงิน (Liquidity risk) ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นระบบปกติ ซึ่งจะดีกว่าธนาคารชาติเข้าไปทำการจัดสรรสินเชื่อเอง แม้มีคณะกรรมการ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอรัปชั่น และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ" รมว.คลัง กล่าว...