แม้รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินให้แรงงานบางส่วนไปแล้ว เป็นจำนวนหลายแสนคน แต่ก็ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าใครควรมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และใครไม่มีสิทธิ์ จากประชาชนทั้งหมดกว่า 24 ล้านคน ที่ลงทะเบียนขอให้เยียวยา แม้แต่ผู้มีประกันสังคมก็มีปัญหา
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ผู้ประกันสังคมที่จะได้รับเงินชดเชยมี 2 กรณี คือ กรณีที่รัฐสั่งปิดกิจการ และกรณีที่ประสบวิกฤติโควิด-19 คนในหน่วยงานติดเชื้อ หรือกลุ่มคนเสี่ยงที่มองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะได้รับเงินเยียวยาไม่เกิน 9,300 บาท และไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท
แต่เชื่อว่าหลังการประชุมของสำนักงานประกันสังคม ในวันที่ 14 เมษายน จะมีการขยายให้เงินชดเชยผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นอีก ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจโรงแรม ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน อันได้แก่ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารไทย ต้องการให้รัฐช่วยผู้สมัครใจหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน
แต่ถ้าฟังเสียงนักการเมือง จะพบว่ายังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ตกสำรวจ ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ และเรียกร้องให้ขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ต้องไม่ลืมว่าในวิกฤตการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ คนทุกกลุ่มล้วนแต่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ระดับเศรษฐีเล็กหรือเศรษฐีใหญ่ จนรัฐบาลต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อช่วยคนจน-อุ้มคนรวย
หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดก็คือ นอกจากรัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ยังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่จ้างแรงงานของประเทศถึง 80% ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้เอกชน
...
พูดเพื่อให้เข้าใจง่ายๆจะใช้เงิน ธปท.ซื้อตราสารหนี้ชั้นดีของภาคเอกชน พูดอีกอย่างก็คืออุ้มคนรวย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นระบบการเงินของประเทศอาจขาดความเชื่อถือ และมีสิทธิพังได้แต่มีระดับอดีตผู้บริหาร ธปท.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบ ธปท.
มีปัญหาว่างบประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.ใช้เงินของตนเอง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน 4 แสนล้านบาท แม้จะไม่ใช่เงินกู้ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ และในที่สุด รัฐบาลจะต้องชดใช้หนี้ด้วยเงินจากภาษีประชาชนหรือไม่.