วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.หวั่น หน้ากากอนามัยใช้แล้วก่อปัญหาขยะล้นเมือง ทั้งอาจปนเปื้อนไหลลงสู่ทะเล แนะวิธีทิ้งที่ถูกต้องให้ประชาชน พร้อมกำชับ ที่ปรึกษา “ยุทธพล” เร่งแก้ปัญหาก่อนปัญหาบานปลายเหมือนฮ่องกง
วันที่ 10 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ประเทศไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 มานับตั้งแต่เดือน ม.ค. นอกจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ปัญหาที่ตามมา ได้แก่ ปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพอนามัย และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) หวั่น ขยะหน้ากากอนามัยปนเปื้อนแหล่งน้ำและทะเล ซ้ำรอย ฮ่องกง วอน ประชาชนช่วยกันทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วให้ถูกที่ พร้อมมอบหมาย นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว. ทส. ประสานและกำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ไขปัญหาก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้
...
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในภาวะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งทุกภาคส่วนต่างผสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง มาโดยตลอด ในส่วนของพี่น้องประชาชน ต่างก็ต้องดูแลและป้องกันตนเองทั้งการปฏิบัติตามแนวทางที่ภาครัฐ ขอความร่วมมือ รวมถึงการป้องกันโดยใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ได้เดินหน้าผลิตหน้ากากอนามัยกว่า 1.4 ล้านชิ้นต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ของพี่น้องประชาชน แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ มีปริมาณขยะหน้ากากอนามัย ที่ใช้แล้วเกิดขึ้นกว่า 1 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน บางส่วนถูกทิ้งในที่ที่จัดเตรียมไว้ และบางส่วนถูกทิ้งปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม
"ตนรู้สึกกังวลหากไม่มีการจัดเก็บอย่างถูกต้อง จะก่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งตนเคยให้ข่าวก่อนหน้านี้กรณีปัญหาหน้ากากอนามัยใช้แล้วก่อปัญหาขยะล้นเมืองในฮ่องกง ซึ่งตนรู้สึกกังวลว่า จะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย ตนจึงได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานจัดทำข้อแนะนำการจัดการขยะหน้ากากอนามัย เสนอไปยังกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ในการเตรียมการจัดการกับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว โดยทาง กทม. ได้มีการจัดตั้งถังขยะสีแดง สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะใน 50 เขตแล้ว สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ และจัดเตรียมพื้นที่ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว" นายวราวุธ กล่าว...
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สำหรับพี่น้องประชาชน ตนขอแนะนำวิธีการจัดการกับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยให้พับหน้ากากอนามัยให้ด้านที่สัมผัสใบหน้าอยู่ด้านใน จากนั้นห่อให้มิดชิดด้วยกระดาษหรือถุงที่ปิดสนิท และเขียนกำกับก่อนนำไปทิ้ง เพื่อจะได้นำไปจัดการกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะต่อไป ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานและกำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของหน้ากากอนามัยลงสู่ทะเล โดยได้เน้นย้ำให้วางแผนและเตรียมความพร้อมในทุกด้านก่อนปัญหาต่างๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่จนยากที่จะแก้ไข
ด้านนายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้รับข้อสั่งการของท่าน รมว. ทส. และเร่งประสานสั่งการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยได้หารือกับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของหน้ากากอนามัยใช้แล้วลงสู่ทะเล พร้อมวางแผนการดักเก็บขยะ บริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสายหลักกว่า 400 สาย ก่อนไหลลงสู่ทะเล รวมถึงพิจารณาติดตั้ง ทุ่นดักขยะ (BOOM) เพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการติดตั้งแล้วกว่า 11 จุด ในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี ระยอง และปากแม่น้ำสำคัญในหลายพื้นที่ ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้หลายตันในตลอดปี
"ยังได้กำชับให้เร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล พร้อมจัดเตรียมสถานที่ทิ้งหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและนำไปกำจัด ทั้งนี้ ตนได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ รมว. ทส. ทราบอย่างต่อเนื่อง นายยุทธพล อังกินันทน์ กล่าว...