“อนุดิษฐ์” บี้ทุกกระทรวงเอา อย่างกระทรวงกลาโหมหั่นงบฯ ซื้ออาวุธ ลดภาระกู้เงินแก้วิกฤติ “สมคิด” แซะน่าจะตัดได้มากกว่านี้ เหน็บ 5 ปี ขนซื้อมามากมายอย่าเพิ่มมาอีก “วิโรจน์” บอกไม่เสียแรงบ่น ได้ทีให้เฉือนทิ้งทั้งหมด “ยานเกราะ-ปืนใหญ่-เรือดำน้ำ-เครื่องบิน” ไม่ใช่แค่ส่วนเดียว “พิธา” นำทีม ส.ส.รับฟังชาวบ้านครวญใกล้สิ้นลมรอเงินเยียวยา หลายกลุ่มอาชีพอิสระตกหล่น-เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต “ณัฐชา” อึ้งต้องเสี่ยงจ่าย 100-500 บาทจ้างคนอื่นลงทะเบียนแทน “นิพิฏฐ์” จวก ก.แรงงานตื่นได้แล้ว ลูกจ้าง ม.33 นับล้านคนไม่มีใครเหลียวแล “ชินวรณ์” จี้รัฐจ่าย 5,000 บาทนาน 6 เดือน อุ้มเกษตรกร “ชลน่าน” สะกิดดูแลธุรกิจบันเทิงด้วย “มงคลกิตติ์” สละไม่รับเงินเดือนจนหมดวาระ แต่ถ้ายุบสภาฯถือว่าจบกันไป “บิ๊กตู่” ปัดลดทอนอำนาจรัฐมนตรี

จากกรณีที่กระทรวงกลาโหมพิจารณาปรับลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำงบประมาณไปใช้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พรรคฝ่ายค้านได้ออกมาแสดงความชื่นชม พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงอื่นๆเดินตามแนวทางกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยกันลดภาระการกู้เงินมาแก้ปัญหาวิกฤติ

“อนุดิษฐ์” บี้ทุกกระทรวงหั่นงบฯ ลดเงินกู้

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเหล่าทัพทบทวนชะลอการใช้งบประมาณจัดหายุทโธปกรณ์ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ว่า การที่กระทรวงกลาโหมตัดสินใจชะลอใช้งบฯจัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องถูกต้อง ทุกกระทรวงควรดูเป็นตัวอย่าง พิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้วคงเห็นว่าปัญหาโควิด-19 สำคัญกว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เชื่อว่าหากทุกกระทรวงพิจารณาความเร่งด่วนในกระทรวงแล้วจะพบว่าปัญหาโควิด-19 สำคัญกว่าหลายโครงการ ในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ทุกกระทรวงควรยึดแนวทางตามกระทรวงกลาโหมชะลอโครงการไว้ก่อน มาทุ่มงบฯแก้ปัญหาโควิด ตามที่นายกฯให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง จะได้งบฯมาแก้ปัญหานี้มากกว่าที่เป็นอยู่ ภาระการกู้เงินในอนาคตลดลง

...

แหย่น่าหั่นได้มากกว่านี้-อย่าซื้ออาวุธเพิ่ม

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหล่าทัพทบทวนชะลอการใช้งบฯจัดหายุทโธปกรณ์ วงเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาทว่า มองว่าการดำเนินการของเหล่าทัพถือว่าดีเพราะยังฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนอยู่บ้าง แต่น่าจะชะลอการใช้งบฯได้มากกว่านี้ การแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ต้องใช้งบฯจำนวนมาก ต้องกู้เงินมาแก้ปัญหา ถ้าให้ดียิ่งขึ้นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพไม่ควรเพิ่มเข้ามาอีก เพราะตลอด 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ กองทัพซื้อยุทโธปกรณ์มามากมาย ไม่สอดคล้องกับกองทัพยุคใหม่ ขนาดเล็กลดกำลังพลแต่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรลดงบฯความมั่นคง ไปเพิ่มด้านการศึกษาและสุขภาพของประชาชนดีกว่า

“วิโรจน์” บอกไม่เสียแรงบ่นตัดงบฯซื้ออาวุธ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนได้อ่านข่าวเรื่องกระทรวงกลาโหมพิจารณาตัดลดงบประมาณโครงการและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เพื่อนำไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ถือเป็นข่าวดีที่สุดในรอบ 3 เดือน ตั้งแต่ตกอยู่ในสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ระบาด เรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้แสดงความคิดเห็นและเสนอให้กระทรวงกลาโหมนำงบประมาณในส่วนนี้มาช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดตั้งแต่แรกและวันนี้กระทรวงกลาโหมมีแผนชะลอโครงการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ แล้วปันงบประมาณมาช่วยรัฐบาลในการกู้วิกฤติที่เกิดขึ้น ตนในฐานะตัวแทนของประชาชนที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์และเป็นกระบอกเสียง รู้สึกปลื้มใจที่กระทรวงกลาโหมได้ยินเสียงติติงเล็กๆไม่ทำหูทวนลมเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา และหวังว่าประชาชนไทยจะภาคภูมิใจในการเสียสละของชายชาติทหารครั้งนี้

รุกคืบขอเฉือนทั้งหมดไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่ง

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า เท่าที่ดูรายละเอียดโครงการที่จะตัดงบประมาณ การจัดซื้อ ประกอบด้วย ยานเกราะลำเลียงพลหรือสไตรเกอร์ 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท แผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อทดแทนของเก่า วงเงิน 2,000 ล้านบาท โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม.วงเงิน 900 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท แผนจัดซื้อรถถังวีที 4 วงเงิน 1,600 ล้านบาท ขณะที่กองทัพเรือมีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงตั้งงบก่อสร้างที่จอดเรือไว้อีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2569 ส่วนกองทัพอากาศมีโครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565) เป็นต้น เท่าที่ดูยังไม่มีตัวไหนที่ต้านไวรัสได้เลย เราหวังว่าท่านจะตัดรายการจัดซื้อทั้งหมดนี้ออกไปก่อน แล้วนำงบฯจำนวนมหาศาลเหล่านี้มาเยียวยาประเทศไทยแทน

“พิธา” นำ ส.ส.รับฟัง ปชช.บ่นใกล้สิ้นลม

วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม ส.ส.ของพรรคลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน แจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือป้องกันไวรัสโควิด-19 ช่วงเช้าเริ่มต้นที่มัสยิดตลาดพลู กทม. เดินไปตามถนนเทอดไท ไปตลาดจอมทอง และปิดท้าย ช่วงบ่ายที่การเคหะธนบุรี 3 เขตบางขุนเทียน นายพิธากล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่ายังมีประชาชนที่ไม่ได้รับการเยียวยาผลกระทบปัญหาไวรัสโควิด-19 อยู่อีกมาก ผู้ประกอบอาชีพอิสระหลายรายการเยียวยายังเข้าไม่ถึง เช่น คนใช้อินเตอร์เน็ตไม่เป็น คนขับแท็กซี่ยังรอรับเงินเยียวยา ออกวิ่งรถมีรายได้ไม่ถึง 300 บาทต่อวันแทบไม่มีลูกค้า นักเรียน นักศึกษาทำงานพาร์ตไทม์ส่งตัวเองเรียน ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ ยังมีอีกหลายอาชีพมากที่สะท้อนปัญหาให้ฟัง วันนี้ประชาชนอยู่ในสภาวะเหมือนกลั้นหายใจ ไม่สามารถทำงาน ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ได้แต่ทนกลั้นหายใจโดยไม่รู้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อไหร่

อึ้งเสี่ยงจ้าง 5 ร้อยให้คนอื่นลงทะเบียน

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีผู้ร้องเรียนว่า ต้องไปจ้างคนอื่น ลงทะเบียนให้ มีค่าใช้จ่าย 100-500 บาท นี่เป็นการหากินอยู่บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และแม้ว่าจะลงทะเบียนได้สำเร็จแต่ไม่มีความมั่นใจใดเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนจากรัฐบาล เงินที่จ่ายไป 100-500 บาทอาจต้องสูญเปล่า

“นิพิฏฐ์” โวยลูกจ้าง ม.33 ไม่มีใครช่วย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยสมมติเปรียบเทียบร้านหมูกระทะ 2 ร้าน มีลูกจ้างร้านละ 10 คน ร้านหนึ่งไม่ส่งเงินประกันเข้ากองทุนประกันสังคม ไม่เสียภาษี อีกร้านหนึ่งส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและเสียภาษีถูกต้อง เมื่อมีโรคระบาดลูกค้าลดเหลือประมาณ 10% สองร้านทั้งนายจ้างและลูกจ้างเดือดร้อนเหมือนกันหมด แต่ร้านที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนลูกจ้างลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้เดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน ส่วนร้านที่ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ เพราะเป็นลูกจ้างในระบบ (ตามมาตรา 33) จะได้รับความช่วยเหลือต่อเมื่อรัฐสั่งปิด มีลูกจ้างติดโรคระบาด หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง

จวกจะตายกันหมด ก.แรงงานตื่นได้แล้ว

นายนิพิฏฐ์ระบุว่า จึงเรียกร้องมาตลอดว่า สถานการณ์วันนี้ขอให้ถือว่า “มีเหตุจำเป็นที่นายจ้างไม่ให้ทำงาน” เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง 3 เดือนตามมาตรา 79/1 พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่หากลูกจ้างกลุ่มนี้ซึ่งหลายประเภท นับล้านคน เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ผู้ว่าฯหลายจังหวัดสั่งปิดแล้ว ได้รับการช่วยเหลือเงินจากกองทุนไปบ้างแล้ว ผมยกตัวอย่างร้านหมูกระทะเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้น หรืออาชีพที่สอนนักท่องเที่ยวดำน้ำ (diving) ที่ตกงานไป 100% เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว คนเหล่านี้ส่งเงินประกันสังคมทุกเดือน ตอนนี้ตกงานกันหมดแล้ว ประกันสังคมมีเงินเป็นแสนล้าน เป็นเงินของลูกจ้าง-นายจ้าง ที่เขาสะสมมาทั้งนั้น แต่เขาไม่ได้รับการดูแล หากเป็นอย่างนี้ เกรงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายของประชากรอีกระลอกหนึ่ง นโยบายของรัฐที่ให้อยู่บ้านจะไม่ประสบความสำเร็จ กระทรวงแรงงานต้องตื่นได้แล้ว คนในระบบที่ทำตามกฎหมายจะตายกันหมดแล้ว

จี้จ่าย 5 พัน 6 เดือนอุ้มเกษตรกร

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาลกล่าวถึงการเยียวยากลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 และภัยแล้ง จำนวน 8 ล้านครอบครัวว่า ขอสนับสนุนข้อเสนอของ รมว.คลังเยียวยากลุ่มเกษตรกร แม้จะยังไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนเงินและ เงื่อนเวลา ขอเสนอแนวทางดังนี้ 1.กลุ่มอาชีพเกษตรกร กระดูกสันหลังของชาติ แต่สินค้าเกษตรราคาถูกมาต่อเนื่อง ภัยแล้งยาวนาน มีปัญหาโควิด-19 อีก ทำให้หนี้สินครัวเรือนท่วมตัว ต้องเร่งเยียวยาเป็นพิเศษ 2.ให้เยียวยากลุ่มเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรม ส่งเสริมการเกษตรหรือมีบัญชีกับธนาคาร ธ.ก.ส.อยู่แล้ว เป็นรายครอบครัวประมาณ 8 ล้านครัวเรือน 3.ควรแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท 4.ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่ได้รับเงินดังกล่าวมาทำเกษตรครัวเรือน เพื่อดำเนินวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้พร้อมเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อไป

พท.วอนรัฐเหลียวแลธุรกิจบันเทิง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากมาตรการปิดสถานบริการ ร้านอาหาร ผับ ทั่วประเทศนั้น มีแรงงานในภาคธุรกิจบันเทิงมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ต้องตกงานและขาดรายได้ ไม่น้อยกว่า 22 กลุ่มอาชีพ แต่รัฐไม่เหลียวแรงงานในภาคธุรกิจนี้ ทั้งที่คนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ เข้าประเทศ ในยามที่ประเทศปกติ แต่รัฐปล่อยให้หาทางรอดเอาเอง ทั้งนี้ รัฐต้องหางานให้ทำแม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่ควรช่วยให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้

“เต้” สละเงินเดือน ส.ส.จนหมดวาระ

ส่วนกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.และ ส.ส.เสียสละเงินเดือนร่วมบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอบริจาคเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ส.ส.เข้ากองทุนสมทบป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ตั้งแต่งวดวันที่ 30 เม.ย.63 -31 มี.ค.2566 หรือจนกว่ายุบสภาฯหรือหมดวาระสภาฯ รวมเป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาท โดยนายมงคลกิตติ์กล่าวว่า วิกฤตินี้ร้ายแรงไปทั่วโลก ไม่มีใครทราบจะสิ้นสุดเมื่อใด ล่าสุดรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินกว่า 1.9 ล้าน ล้านบาทกู้ครั้งสุดท้าย จะกู้ไม่ได้อีก เนื่องจากเกินร้อยละ 60 ของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี หากแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ใน 6 เดือน ทางสุดท้ายเหลือแค่ขายทรัพย์สินในประเทศ มากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ถึง 3 เท่า คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ในฐานะนักการเมืองไม่สามารถจะทนรับเงินเดือน ภาษีประชาชนได้ จึงขอเสียสละเงินเดือน ส.ส. ส่วน ส.ส.หรือ ส.ว.คนอื่นจะทำตามหรือไม่เป็นดุลพินิจส่วนบุคคล และขอเรียกร้องนายทุนและเจ้าสัวให้ออกมาช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าสถานการณ์ไปต่อไม่ได้ กู้ไม่ได้ พวกเราในฐานะส.ส. มีทรัพย์สินเท่าใดคงต้องขายทั้งหมด เพื่อนำมาช่วยเหลือให้ประเทศผ่านจุดนี้ไปได้

ยุบสภาฯคือจบ กระตุกเจ้าสัวช่วยชาติ

เมื่อถามย้ำว่า ถ้ามีเหตุการณ์ยุบสภาฯไป หรือสภาฯหมดวาระก่อนถึงวันที่ 30 เม.ย.2566 จะบริจาคเงินช่วยต่อให้ครบหรือไม่ นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ก็ให้ถือว่าการสละเงินเดือนจะยุติลงเพียง เท่านั้น คงไม่สมทบทุนจนให้ได้ยอดครบ 4 ล้านบาท ยืนยันว่าอยากให้ทุกฝ่ายร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือให้มากที่สุด โดยเฉพาะ ส.ส.และ ส.ว.เชื่อว่าประมาณ 30% มีเงินเหลือเฟือ สละเงินเดือนทั้งเดือนได้ควรจะเสียสละ ส.ส.และ ส.ว.ที่มีเงินไม่มากพอช่วยสละตามกำลังที่ทำได้ เพราะครั้งนี้จะเป็นการกู้ครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้ากู้มาแล้วยังแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ เศรษฐกิจจะยิ่งทรุดไปเรื่อยๆ ประชาชนจะไม่มีกิน อาจเกิดการปล้นสะดมกัน คงถึงเวลาที่ทั้ง ส.ส. ส.ว.และเจ้าสัวต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง เอาเงินที่มีอยู่มาช่วยประเทศ ตอนนี้ใครที่มีกำลังทรัพย์พร้อมควรเสียสละช่วยประเทศเต็มที่ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าสัวอย่างน้อยควรเสียสละบริจาคเงินครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินที่ตัวเองมีอยู่มาช่วยประเทศ รวมกันแล้วน่าจะได้ประมาณ 10 ล้านล้านบาท มากกว่าจะไปกู้เงินด้วยซ้ำ

เลขาฯสภาฯจัดให้พร้อมหักภาษี

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียงเวช เลขาธิการสภาฯ แถลงว่า นายมงคลกิตติ์ ได้ยื่นเป็นเอกสารมาตรวจสอบแล้วบริจาคได้ ถือเป็นเจตนาของนายมงคลกิตติ์ จะรับไปดำเนินการ ให้โดยหักทุกเดือน และต้องคิดภาษี เพราะถือเป็นรายได้ส่วนบุคคล เมื่อถามว่า ยังมี ส.ส.คนอื่นแสดงเจตจำนงให้หักเงินเดือนอีกหรือไม่ นายสรศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่มี ส.ส.โทร.มาสอบถามว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ให้นโยบายเรื่องนี้อย่างไร ได้ตอบกลับว่า ตอนนี้ท่าน ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ และนายชวนให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ลงพื้นที่ จึงไม่มีการหักเงิน ส.ส. เท่าที่ได้ติดตาม ส.ส.ลงพื้นที่โดยเงินส่วนตัวช่วยเหลือประชาชน จัดหาหน้ากากอนามัย พ่นยาฆ่าเชื้อต่างๆ เป็นต้น หาก ส.ส.คนใดต้องการให้สภาฯหักเงินเดือนจำนวนเท่าไหร่ ทำหนังสืออย่างเป็นทางการมายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯได้ เรายินดีทำให้

เร่งทำห้อง กมธ.ถกงบฯ 64 ช่วง 4–5 มิ.ย.

นายสรศักดิ์กล่าวอีกว่า การเปิดสมัยประชุมสภาฯปลายเดือน พ.ค. เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ได้ให้เจ้าหน้าที่ทดสอบนั่งเก้าอี้ตัวเว้นตัวเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไมโครโฟนจะให้ใช้ของใครของมัน จากเดิมที่ออกแบบสำหรับใช้ 2 คนต่อไมโครโฟน 1 ตัว ส่วนห้องประชุม กมธ.งบประมาณที่จะใช้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2564 ทิศเหนือของอาคารสุริยัน ประธานสภาฯกังวลเพราะเหลือเวลาอีก 2 เดือนต้องใช้ จึงกำชับให้เร่งให้เสร็จ เท่าที่คุยกับวิปรัฐบาลทราบว่าพอเปิดประชุมเดือน พ.ค.จะมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาฯ ในวันที่ 27-28 พ.ค. จากนั้นวันที่ 4-5 มิ.ย.จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบฯปี 2564 วาระแรก ดังนั้นต้องเร่งทำห้องประชุมให้เสร็จทันตามกำหนด

“เทพไท” ติงอย่ากดดันคนอื่น

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสการเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. บริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ระบุแล้วว่า สภาฯยังไม่มีความคิดหักเงินเดือน ส.ส. เพราะ ส.ส.ดูแลประชาชนอยู่แล้ว ใครไม่ทำสุ่มเสี่ยงสอบตก ส.ส.บางคนเสียค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนมากกว่าเงินเดือน ส.ส.ด้วยซ้ำไป ต่างกับ ส.ว.ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาขอความร่วมมือให้บริจาคเงินเดือนคนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทเข้ากองทุน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีบริบททางการเมืองแตกต่างกัน 3 ข้อคือ 1.เรื่องที่มา ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบ ต่างกับ ส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชน มีพื้นที่รับผิดชอบเขตเลือกตั้ง 2. ส.ว. แค่เป็นสภาพี่เลี้ยงให้รัฐบาล แต่ ส.ส.มีบทบาทตัวแทนของประชาชน ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชนโดยตรง 3.หน้าที่ส.ว.กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น ส่วน ส.ส.มีหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุม ตรวจสอบการบริหารราชการ แผ่นดินของรัฐบาล ส่วนตัวยินดีจะบริจาคเงินเดือนเข้ากองทุนสู้ไวรัสโควิด-19 และเป็นสิทธิของ ส.ส. แต่ละคนจะบริจาคเงินเดือนตลอดอายุสภาฯทำได้ตามจิตศรัทธา แต่อย่ากดดันเพื่อน ส.ส.คนอื่น เพราะส.ส.แต่ละคนมีรูปแบบและวิธีบริจาคช่วยประชาชนแตกต่างกัน

ตั้งกองทุนไม่ทั่วถึงสู้เครือข่าย ส.ส.ไม่ได้

นายเทพไทกล่าวอีกว่า การตั้งกองทุนเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะมีวิธีใช้เงินอย่างไรให้กระจายไปได้ทุกพื้นที่ ถึงมือประชาชนทั่วทุกภูมิภาค แตกต่างกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ทั้ง 500คน ที่มีพื้นที่ความรับผิดชอบชัดเจน ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญและสนับสนุนบทบาท ส.ส.ที่ใกล้ชิดประชาชน มีเครือข่ายเต็มพื้นที่ รัฐบาลน่าจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติช่วยเหลือประชาชนร่วมกับฝ่ายรัฐบาล จะประสบผลสำเร็จได้มากกว่า

“โกศล” จี้ กกต.ตอบปมเงินบริจาค

นายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้ ส.ส.บริจาคเงินเดือนช่วยแก้ปัญหาโควิดว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคนได้นำเงินเดือนไปลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว จากการพูดคุยเราจะทำกันเช่นนี้ต่อเนื่อง 3 เดือน เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 65 กำหนดว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของพรรคการเมืองให้ได้ไม่เกิน 3 ล้าน และ ส.ส.ให้ได้ไม่เกิน 3 แสน และมาตรา 66 ระบุว่าหากให้เกินกว่าที่กำหนดให้นำเงินดังกล่าว คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงอยากให้ กกต. ที่รับผิดชอบกฎหมายนี้ ให้ความกระจ่างหรือวิธีปฏิบัติที่ควรจะเป็น ส.ส.ต่างอยากช่วยประชาชนจนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะผ่านพ้นไปอยู่แล้ว แต่เมื่อมีข้อกฎหมายกำหนดไว้อยากดำเนินการให้ถูกต้องจะดีที่สุด และการที่เราช่วยประชาชนโดยตรง ไม่บริจาคผ่านใครหรือหน่วยงานใด เพราะคิดว่าการลงพื้นที่ประชาชนจะได้รับการช่วยตรงตามความ ต้องการมากกว่า

“บิ๊กตู่” ปัดลดทอนอำนาจรัฐมนตรี

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค.ว่า ขอให้หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการแต่ละด้านประสานงานกันอย่างใกล้ชิด รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำนโยบายไปช่วยปฏิบัติ ไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรี เพียงต้องการให้บูรณาการทำงานร่วมกัน และควบคุมภาพรวมการทำงานอย่างใกล้ชิด ข้อมูลจำนวนมากทำให้กระชับบูรณาการมาที่ ศบค. เพื่อวิเคราะห์ตัดสินใจ นำมาประชาสัมพันธ์ได้ทันที สิ่งสำคัญคืออย่าให้สิ่งที่สื่อสารไปตีความผิดพลาด ถูกนำออกไปเป็นประเด็นทางการเมือง ให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกหน่วยงานเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และให้โฆษกกระทรวงต่างๆ ชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนเอง ควบคู่ไปกับการแถลงสถานการณ์ของโฆษก ศบค.ในแต่ละวัน

มท.ไฟเขียว อปท.ใช้งบสาธารณภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือถึง ผวจ.ทุกจังหวัด ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงแนวทางการใช้จ่ายงบฯขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อช่วยเหลือประชาชนกรณีติดเชื้อโควิด-19 ว่าอปท.สามารถใช้จ่ายงบฯด้านสาธารณภัย การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อได้ โดยใช้จ่ายจากงบฯประจำปี งบกลางประเภทเงินสำรองจ่าย และหมวดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หรือเงินสะสมตามที่กระทรวงอนุมัติให้ยกเว้นใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม หรือโอนงบฯไปตั้งจ่ายเป็นค่าใช้จ่าย

“กรณ์” ยังอู้ฟู่รวยทะลุพันล้าน

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ราย ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรณีพ้นจากตำแหน่ง นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นตำแหน่ง โดยนายกรณ์แจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 มีทรัพย์สิน 1,062,879,060 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 6,526,198 บาท แยกเป็นทรัพย์สินของนายกรณ์ 647,865,893 บาท และทรัพย์สินของนางวรกร จาติกวณิช คู่สมรส 388,013,166 บาท โดยมีทรัพย์สินที่น่าสนใจคือ บ้าน 12 หลัง มีมูลค่ารวม 244 ล้านบาท หนึ่งในนั้นเป็นบ้านย่านคาโตแกนสแควร์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ของนายกรณ์มูลค่า 140 ล้านบาท

“จักพันธ์” มีทรัพย์สินเบาะๆ 147 ล้าน

ขณะที่นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.วันที่ 22 ม.ค.2563 และยื่นบัญชีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ในวันที่ 27 ม.ค.2563 โดยทั้งสองช่วงระบุว่ามีทรัพย์สิน 147,133,838 บาท มีหนี้สิน 18,405,785 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128,728,052 บาท