รวม 1.68 ล้านล้าน! เพิ่มข้าราชการ สธ. เกือบ 5 หมื่นอัตราให้มาต่อสู้โรคร้าย
ครม.นัดพิเศษเทหน้าตัก อัดมาตรการเยียวยาเฟส 3 ไฟเขียวใช้วงเงิน 10% ของจีดีพี หรือราว 1.68 ล้านล้านบาท อุ้มภาคธุรกิจสู้ศึกโควิด-19 ไม่ให้ล้มแบบวิกฤติต้มยำกุ้ง “สมคิด” รีบแจงไม่ได้กู้ทั้งหมด แต่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. 3 ฉบับ ให้เอกชนมีหลังพิง “วิรไท” แจง ธปท.ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ขออำนาจปล่อยซอฟท์โลนธุรกิจใหญ่-ดูแลตลาดตราสารหนี้ ส่วน ก.คลัง 1 ฉบับ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน “อุตตม” ย้ำต้องดูแลให้ครบ 3 กลุ่ม สบน.บอกกู้เกิน 1 ล้านล้านฯก็ไม่มีปัญหา “ไตรศุลี” เผย ครม.เห็นชอบหลักการบรรจุข้าราชการ สธ. อีกกว่า 4.5 หมื่นอัตรา พรรคการเมืองทั่วโลกรวมใจสู้ไวรัสร้าย
หลังจากมัวมะงุมมะงาหรามาพักใหญ่ ว่าจะใช้วิธีการจัดสรรงบประมาณรูปแบบใดมาสู้กับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ มีมติออกมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจชุดที่ 3 คิดเป็นวงเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือราว 1.68 ล้านล้านบาท
...
ครม.นัดพิเศษถกอัดงบฯสู้โควิด
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 เม.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) มีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมเต็มคณะ รวมถึง 3 รัฐมนตรี ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องกักตัวเฝ้าดูอาการเนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งครบกำหนด 14 วันแล้ว ไม่พบติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนายกฯ รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ต้องผ่านจุดคัดกรอง และสวมหน้ากากอนามัยทุกคน สำหรับการประชุม ครม.นัดพิเศษวันนี้ เพื่อรับฟังสรุปการทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของแต่ละกระทรวง แนวทางมาตรการเยียวยาในระยะที่ 3 และ 4 ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. หารือการปรับเปลี่ยนโยกงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ลำดับความสำคัญเร่งด่วน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินจากส่วนต่างๆที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน มีการจัดที่นั่งให้รัฐมนตรีนั่งห่างกันตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ
ยังคุมเข้มสื่อทำข่าวที่ทำเนียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลยังเป็นไปอย่างเงียบเหงา มาตรการรักษาความปลอดภัยยังคงเข้มงวด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน มาปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็น สื่อมวลชนมาคอยติดตามทำข่าวบางตา เนื่องจากถูกขอความร่วมมือจำกัดจำนวนนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องละ 1 ทีม หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ขอสังกัดละ 1 คน และยังจำกัดบริเวณทำงานห้ามดักรุมสัมภาษณ์และเดินไปตามตึกต่างๆ ขอให้ทำข่าวผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆแทน หรือทำได้เฉพาะเมื่อมีการอนุญาตแล้ว
ไฟเขียวใช้วงเงิน 10% ของจีดีพี
ต่อมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมแถลงผลการประชุม ครม.นัดพิเศษถึงมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจชุดที่ 3 นายสมคิดกล่าวว่า ครม.นัดพิเศษให้ความเห็นชอบมาตรการชุดพิเศษที่จะใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้นคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ผ่านการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เป็นของ ธปท. 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด โดยใช้เงินของ ธปท.เอง ส่วนกระทรวงการคลังจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ส่วนจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ต้องไปดูผลจากการให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะงบส่วนที่ตัดได้โดยไม่เกี่ยวเงินเดือนและค่าจ้างก่อน
“สมคิด” รีบแจงไม่ได้กู้ทั้งหมด
นายสมคิดกล่าวต่อว่า มาตรการนี้เป็นชุดพิเศษชุดใหญ่ที่จะดูแลครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมดูแลช่วง 6 เดือนจากนี้ไปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีการฟื้นฟู และมีมาตรการดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม วงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยจะนำรายละเอียดเข้า ครม.อีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งวงเงินดังกล่าวไม่ใช่กู้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะเอามาจากงบประมาณที่สามารถตัดได้ อีกส่วนเป็นวงเงินของ ธปท. ฉะนั้นที่กู้จริงจะน้อยกว่าวงเงินรวม ส่วนการตัดงบประมาณเบื้องต้นทุกกระทรวงยินดีตัดงบในส่วนที่ตัดได้มาให้ จะเป็นประเภทของงบตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และงบที่กันไว้สำหรับชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง อีกทั้งมาตรการที่ออกมาจะไม่จบอยู่แค่นี้ รัฐบาลจะดูความเหมาะสมและออกมาทีละชุดตามสถานการณ์
ทุ่ม 1.68 ลล.ให้ภาคธุรกิจพิงหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จีดีพีของประเทศไทย ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท หากคิด 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีที่รัฐบาลต้องการนำมาแก้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้มาตรการชุดที่ 3 คิดเป็นวงเงินราว 1.68 ล้านล้านบาท โดยนายสมคิดกล่าวในที่ประชุม ครม.นัดพิเศษว่า การออกมาตรการนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจรู้สึกว่ามีหลังพิง หากปล่อยไปจะมีปัญหาแบบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งได้ แต่ครั้งนี้เรามีบทเรียนมาแล้วจึงรู้วิธีการแก้ไขไม่ให้กระทบกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและภาคการเงิน และไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักใน 3-4 เดือนนี้
ธปท.จัดซอฟท์โลนให้ธุรกิจใหญ่
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มขยายเพิ่ม ธปท.จึงเสนอ ครม.อนุมัติการออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.จัดวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเคยทำมาแล้วในปี 2555 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในครั้งนั้นมีวงเงิน 300,000 ล้านบาท แต่คราวนี้มีวงเงินที่ใหญ่กว่าที่ธนาคารออมสินได้ออกให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อมไปแล้ว ที่ 150,000 ล้านบาท ส่วน พ.ร.ก.อีกฉบับให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชน เพื่อป้องกันวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้สถาบันการเงินเป็นเสาหลักสำคัญให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ต้องให้แน่ใจว่าตลาดการเงินทำหน้าที่ได้ปกติ ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ธปท. จึงร่วมพิจารณากลไกช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาด 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 14 ล้านล้านบาท เท่ากับตลาดตราสารหนี้ใหญ่ขึ้นมาก มีผู้ซื้อครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีธุรกิจจำนวนมากกู้ตราสารหนี้
ดูแลตลาดตราสารหนี้ให้ปกติ
นายวิรไทกล่าวอีกว่า หากเศรษฐกิจโลกลามมากระทบเศรษฐกิจไทย จะทำให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ ธปท.จึงเสนอ ครม. ออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด ซื้อเฉพาะตราสารหนี้บริษัทที่คุณภาพดีเท่านั้น แนวทางนี้ทำให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปกติได้ นอกจากนี้ ธปท.ให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ 5 ล้านบาทต่อราย ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 จะลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เหลือ 1 ล้านบาทต่อราย และให้ลดวงเงินการนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิม 0.46 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.23 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี ให้ธนาคารพาณิชย์นำส่วนต่างนี้ไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้
“อุตตม” ชี้ต้องดูแลให้ครบ 3 กลุ่ม
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของการดูแลเศรษฐกิจจริงที่จะทยอยมีมาตรการออกมา ประกอบด้วยการดูแล 3 กลุ่มมาตรการต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังไม่มีครอบคลุมถึง ประกอบด้วย กลุ่มแรก เกษตรกร ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ลูกจ้างประจำและชั่วคราว กลุ่มที่ 2 การดูแลเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อไปต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยตรง งบประมาณที่จะลงไปยังท้องถิ่น หรือโลคอลอีโคโนมี เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม และกลุ่มที่ 3 การดูแลผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
รับทราบสรุปแผนการใช้จ่ายงบ
ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ ยังมีมติรับทราบสรุปรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามที่ สำนักงบประมาณเสนอ หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ จำนวนทั้งสิ้น 644,181.4081 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 362,076 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 282,104 ล้านบาท มีส่วนราชการที่รับเงินงบประมาณและกำหนดแผน การใช้จ่าย 158 หน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น 8,455 ล้านบาท คิดเป็น 1.31 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้
ให้บรรจุ ขรก.สธ.กว่า 4 หมื่นอัตรา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบในหลักการตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เสนอขอบรรจุ ข้าราชการเพิ่มเติมจากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงาน และลูกจ้าง กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่ต้องปฏิบัติ หน้าที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่มีอยู่ประมาณ 160,000 คน โดย ครม.ให้ไปหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป บุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็น บุคลากรวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่การสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ควรรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน
สบน.ยันกู้เกิน 1 ลล. ก็ไม่มีปัญหา
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน ที่จะออกมานั้นไม่ติดปัญหาเรื่องจำนวนเงิน รัฐบาลต้องการกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ก็สามารถทำได้ เพราะไม่มีกรอบของกฎหมายกำหนด ไว้ว่าเพดานสูงสุดจะออกได้เท่าไหร่ มีเพียงกรอบวินัย การเงินการคลังเท่านั้น ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากจะเพิ่มสัดส่วน เพื่อนำเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มองว่าไม่เป็นไร แต่เรื่องนี้ต้องดูฐานะการคลังประเทศด้วย ส่วนเรื่องการ ให้แต่ละกระทรวงตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์นั้น กำลังดูอยู่ว่าจะสามารถตัดทอนงบจากส่วนไหนได้บ้าง คงต้องไปดูว่ามีแผนงานอะไร ที่สามารถเลื่อนไปก่อนได้
เปิดให้คนผิดเงื่อนไขยกเลิกได้
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ให้รัดกุมและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ล่าสุด มีกลุ่มอาชีพ ที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น 4 กลุ่มอาชีพ คือ มัคคุเทศก์ ผู้ค้าสลาก คนขับรถแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์การยกตัวอย่าง 4 กลุ่มอาชีพนี้ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ระบบการคัดกรองของโครงการรัดกุม รวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลครบถ้วน ส่วนการเรียกร้องให้ ระบบลงทะเบียนสามารถแก้ไขข้อมูลในการลงทะเบียน หรือยกเลิกการลงทะเบียนได้นั้น กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย กำลังเร่งปรับปรุงระบบให้สามารถ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกการลงทะเบียนได้ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนแก้ไขหรือยกเลิกได้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.เป็นต้นไป
พ.ร.ก.กู้เงินไม่ต้องเปิดวิสามัญ
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมมอบเงินบริจาคให้โครงการ “Mini Mask หน้ากากเพื่อเด็ก” ตามโครงการของนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้มาลงทะเบียนรับหน้ากากเด็กแล้วเกือบ 700,000 คน ต่อมานายชวนให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ยังคงดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะจัดรูปแบบที่นั่ง ส.ส.ให้ห่างกัน สำหรับวาระสำคัญในสมัยประชุมหน้า คือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 น่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. เมื่อถามว่า หากรัฐบาลจะขอออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแก้ปัญหาผลกระทบภาพรวมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องเปิดสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมวิสามัญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาเป็นวาระแรกได้ เพราะเป็นเรื่องด่วน หากจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญในช่วงนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและการเข้าชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งตนพร้อมปฏิบัติตาม
พรรคทั่วโลกรวมใจต้านโควิด
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนอ่านจดหมายเปิดผนึกร่วมจากพรรคการเมืองต่างๆทั่วโลก เกี่ยวกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการต่อสู้กับโควิด-19 มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า 1.ขอยกย่องชมเชยผู้ทำงานด้านสุขภาพที่อุทิศตนเพื่อช่วยชีวิตและปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน 2.สนับสนุนให้ทุกประเทศมีแผนฉุกเฉินและยุทธศาสตร์ ตามเงื่อนไขของแต่ละชาติ และร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อควบคุมโรคและดูแลผู้ป่วย 3.เน้นความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาชนและจิตอาสา 4.ทุกประเทศต้องมีมาตรการและเป้าหมายที่จะปกป้องผู้ได้รับผลกระทบ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง 5.ทุกประเทศต้องยกระดับการประสานระหว่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และห่วงโซ่อุตสาหกรรม ลดหรือยกเว้นอากรต่างๆให้การค้าเดินไปได้เพื่อป้องกันการถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์
ทุ่มเทพลังทางการเมืองสู้เชื้อโรค
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวต่อว่า 6.ต้องตื่นรู้สร้างประชาคมแห่งการแบ่งปันอนาคตเพื่อมนุษยชาติ โดยถือเอาโควิด-19 เป็นโอกาสสร้างประชาคมแห่งการแบ่งปันอนาคตของการสาธารณสุข 7.ชื่นชมประเทศต่างๆและประเทศจีน ที่ใช้ท่าทีที่เปิดเผยโปร่งใสและรับผิดชอบ ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างทันท่วงที และแบ่งปันประสบการณ์ ตลอดจนการช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ประชาคมโลก 8.ต้องไม่เอาประเด็นสาธารณสุขที่ต้องร่วมมือกันไปเป็นประเด็นการเมือง ด้วยการประณามประเทศอื่นโดยอ้างโควิด-19 9.ขอให้พรรคการเมืองทั่วโลกประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทุ่มพลังทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ร่วมกัน 10.สนับสนุนบทบาทหน้าที่ของสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ในการกำกับดูแลการสาธารณสุขโลก 11.ปัญหาโควิด-19 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงขณะหนึ่งในห้วงเวลาของมนุษยชาติ ขอเพียงเราทุกคนต่อสู้ร่วมกันด้วยความมุ่งมั่นและใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราจะผ่านพ้นไปได้
ห่วงเศรษฐกิจชะงักยาวไม่ได้
นายโภคิน พลกุล รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมลงนามใน จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว วันนี้เราถูกท้าทายด้วยศัตรู ดังนั้นเราจะต่อสู้กับเชื้อโรคนี้อย่างไร เพื่อให้คนทำมาหากินต่อไปได้ ภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจ กิจกรรมสังคมหยุดชะงัก ซึ่งจะหยุดระยะยาวไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรง เราต้องร่วมกันสร้างประชาคมที่แบ่งปันอนาคตมนุษยชาติด้วยกัน วันนี้ไม่ว่าชาติไหน ภาษาใด เราต่างเจอศัตรูตัวจริง จึงต้องมาร่วมมือกันต่อสู้ทางด้านสาธารณสุขแบบวิทยาศาสตร์ มีการร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
จี้รัฐบาลป้องกันภาวะเงินเฟ้อสูง
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ว่า เงินจำนวนนี้คิดเป็นร้อยละ 5-6 ของจีดีพี นับว่ามากสำหรับประเทศไทยที่มีฐานรายได้ภาษีต่ำ หากรัฐบาลใช้เงินนี้ไม่ถูกทางจะเกิดภาวะข้าวของแพง และเงินเฟ้อสูง ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นในด้านการชดเชยรายได้ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล ควรโยกย้ายงบประมาณปัจจุบันมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดก่อน โดยเฉพาะงบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หากรัฐบาลจะกู้เงินมากขนาดนี้ต้องกู้ไปสร้างงาน ให้คนมีงานทำมีรายได้ ไปสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศเพื่อฟื้นระบบเศรษฐกิจ จึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตเพิ่มจีดีพีได้ และไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
“วิโรจน์” งงกรมควบคุมโรคตัดข้อมูล
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สังเกตรายงานสถานการณ์โควิด-19 ของกรมควบคุมโรค ในเว็บไซต์ ddc.moph.go.th ปกติจะบอกจำนวนรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย แต่ล่าสุดไม่มีแล้ว และมีการอัปโหลดเอกสารใหม่ไปแทน โดยตัดข้อมูลนี้ออกจากรายงานเดิมตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. จึงอยากทราบเหตุผลของกรมควบคุมโรค มีเหตุผลอะไรที่ต้องตัดข้อมูลรอผลการตรวจทิ้งไป ทั้งที่เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงศักยภาพในการตรวจโรคของรัฐบาลเอง หากตัวเลขรอผลการตรวจลดลงจะถือว่ารัฐบาลทำงานจริงจัง เพิ่มการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพจากเดิมแค่หลักร้อย และตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการตรวจเพิ่มขึ้นวันละ 1,000-1,500 คน ถือว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่ดี มีการปรับปรุงการตรวจที่ดีขึ้น ควรเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ไม่ควรตัดออกไป
“พิชัย” เตือน รบ.รับมือหลังวิกฤติ
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ อยากเสนอให้ยกเลิกการผสมแอลกอฮอล์ในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่ใช้ถึงวันละประมาณ 4 ล้านลิตร เพื่อนำมาผลิตแอลกอฮอล์กำจัดไวรัสโควิด-19 เหลือเท่าไหร่ค่อยนำไปผสมแก๊สโซฮอล์ จะทำให้มีแอลกอฮอล์เหลือใช้เพียงพอในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งวันนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเอทานอลแพงกว่าราคาน้ำมันมาก หากนำมาใช้จำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะได้ประโยชน์มากกว่า เชื่อว่าหลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านไปแล้ว โลกจะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหนักทั่วโลก รัฐบาลต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลปัจจุบันจะมีความสามารถเพียงพอรับมือได้ขนาดไหน
“โรม” รับทราบหมิ่น “บิ๊กป้อม”
วันเดียวกันที่ สน.บางขุนนนท์ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมทนายความส่วนตัว เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ พ.อ.ภิญโญ บุญทรงสันติกุล ได้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 กรณีนายรังสิมันต์อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นนายรังสิมันต์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นายรังสิมันต์กล่าวว่า การตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมนตรี โดยไม่จำกัดว่าจะต้องทำในที่ประชุมสภาเท่านั้น ยืนยันว่าจะต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด และจะไม่หลบหนีคดี
“เสรีพิศุทธ์” ยอมสั่งงดประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งงดประชุม กมธ. ป.ป.ช. ในวันที่ 8 เม.ย.แล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ไม่สามารถเปิดประชุม กมธ.ป.ป.ช.ได้ เนื่องจากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม หลายคนลาการประชุมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ต้องการปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของรัฐบาล หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินรวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของกระทรวงสาธารณสุข