ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วงที่คนไทยต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสล้างโลก โควิด–19 คงจะได้เห็น ความจริง ในหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา ได้เห็น ความจริง ของคนหลายกลุ่ม แต่ที่เห็นทุกครั้งในยามที่ประเทศเกิดภัยพิบัติ คือ น้ำใจและกำลังใจ จากคนไทยทั้งประเทศ

เสียงปรบมือ ที่ดังขึ้นพร้อมกันในเวลาประมาณ 2 ทุ่มของทุกวัน จะเป็นรายบุคคล จะเป็นกลุ่มบุคคล ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นกำลังใจอย่างดีของ คนทำงาน ของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ที่หมายถึงผู้ปฏิบัติ ไม่ได้หมายถึง คนที่อยู่บนหอคอย จ้องแต่จะหาประโยชน์ส่วนตน

เสียงเรียกร้องจาก บรรดาคุณหมอ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ถึงการขาดแคลน หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันโรค ที่ถูกกดดันจาก ผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข ทุกๆเรื่อง แม้แต่การรับบริจาค หรือการออกมาพูดความจริงถึง สถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโควิด–19 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขที่จะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง คุณหมอ ต้องคิดเองทำเองหมด แม้แต่กิจกรรมง่ายๆ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ คุณหมอ ก็ต้องช่วยกันคิดขึ้นมา และกลายเป็นพลังแรงบันดาลใจของชาวบ้านในการร่วมมือกัน ป้องกันไวรัสโควิด–19 ดีกว่าการออกมาประกาศให้ชาวบ้านกักตัวอยู่ในบ้านของรัฐบาลเสียอีก

เสียงจาก นักรบเสื้อกาวน์ ที่เข้ามาช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ จากการรวบรวมข้อมูลเสียงสะท้อนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานจริง เล่นจริงเจ็บจริง ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ระบุ ไวรัสโควิด–19 ไม่เพียงแต่ยากจะควบคุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันต่างๆ สำหรับแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นชุดหมี PPE หน้ากากพลาสติก Face shield และหน้ากากอนามัย ที่ถูกต้องควรจะใช้ครั้งเดียว

...

แต่ตอนนี้ ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้ง รวมไปถึงต้องตัดชุดและประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เราอยากได้ชุดที่มีมาตรฐาน แต่มันไม่มีใส่ ต้องเข้าใจ จะให้เดินตัวเปล่าเข้าไปดูแลคนไข้ก็ไม่ได้ แม้แต่ตอนนี้ หน้ากากผ้าสมัยก่อน เอามาผูกเวลาดูคนไข้ เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ต้องนำกลับมาใช้ ชุดเสื้อกาวน์ที่ทำด้วยผ้า ใช้เสร็จแล้วก็เอามาซักใช้ใหม่

เพราะฉะนั้น พวกที่ไม่เคยดูคนไข้ พวกที่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์จริง จะบอกว่ามันพอ อันนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ไม่มีมาตรฐาน ก็ไม่มีให้ใช้ อะไรทำเองได้เราก็ทำมาใช้กัน

เสียงสะท้อนเหล่านี้ คงสะท้อนถึงความอนาถาทางการแพทย์ของประเทศไทย ที่เราเห็นแค่ด้านเดียวมาโดยตลอด สิ่งที่ตอบสนองสำหรับชาวบ้าน คนยากคนจน คือรอความตาย อันที่จริงไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดเท่านั้น แต่เป็นมานานแล้วสำหรับคนไข้อนาถา ที่ได้แต่รอความตาย วันนี้กำลังลุกลามไปถึงคุณหมอ ถ้าวันหนึ่งเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน คุณหมอป่วยขึ้นมา ต่อให้ออก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมากี่ร้อยฉบับ

ก็เอาไม่อยู่.

หมัดเหล็ก